Saturday, December 18, 2021

ร้อง กมธ.ป.ป.ช. เอาผิดอธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกค่าปรับท่าเทียบเรือลอยน้ำอ่าวโล๊ะซะมะ โดยมิชอบ



ทนายกระดูกเหล็ก เป็นตัวแทนบริษัท ไฮ-พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธาน กมธ.ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบ และดำเนินคดีกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับพวก หลังเรียกค่าปรับล่าช้า กรณีสร้างท่าเทียบเรือลอยน้ำ อ่าวโล๊ะซะมะ โดยมิชอบ

วันนี้ (17 ธ.ค.)นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความชื่อดัง ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ไฮ-พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ และดำเนินคดีกับนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมทั้งนายดำรัช โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (17 ธ.ค.64)

โดยทนายอนันต์ชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และบริษัท ไฮ-พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำสัญญาซื้อขาย โครงการ “การจัดหาท่าเทียบเรือลอยน้ำ” เพื่อควบคุมการเข้า-ออกของเรือในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ พร้อมติดตั้ง จำนวน 1 ชุด ด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เป็นราคาทั้งสิ้น 49,630,000 บาท (สี่สิบเก้าล้านหกแสนสามหมื่นบาทถ้วน) โดยมีกำหนดส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2562

หลังจากบริษัท ไฮ-พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำหนังสือแจ้งให้กรมอุทยานฯ ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทฯ เพื่อดำเนินการตามสัญญาหลายครั้ง แต่กรมอุทยานฯ ก็เพิกเฉย แต่ต่อมากลับมีหนังสือแจ้งว่าจะปรับบริษัทฯ ตามสัญญา ซึ่งบริษัทฯ ได้ชี้แจงให้กรมอุทยานฯ ทราบแล้วว่า เหตุเป็นเพราะกรมอุทยานฯ ยังไม่ส่งมอบพื้นที่หน้างานให้แก่บริษัทฯ บริษัทมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา กรมอุทยานฯ ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ และที่สำคัญคือกรมอุทยานฯ ยังมิได้ก่อสร้างทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำ สำหรับให้สะพานท่าเทียบเรือลอยน้ำของบริษัทฯ มาเชื่อมต่อ

ในที่สุดกรมอุทยานฯได้มีหนังสือตอบบริษัทฯ ว่า ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่หน้างานให้บริษัทฯ ได้ เพราะกรมอุทยานฯ ยังสร้างทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำไม่แล้วเสร็จจริง หากเสร็จเมื่อใดจึงจะส่งมอบพื้นที่หน้างานให้บริษัทฯ จากนั้น บริษัทฯ จึงได้ทำหนังสือถึงกรมอุทยานฯ ขอขยายสัญญาเป็น 90 วัน

ต่อมากรมอุทยานฯ ได้ส่งมอบพื้นที่หน้างานให้กับบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการติดตั้งสะพานเข้ากับทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำ แต่กลับไม่สามารถติดตั้งได้ เพราะกรมอุทยานฯ สร้างทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำยาวเลยคานคอนกรีตออกมาประมาณ 2 เมตร ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักสะพานท่าเทียบเรือลอยน้ำสแตนเลส ซึ่งมีน้ำหนักถึง 2.1 ตัน ได้ ซึ่งอาจทำให้โค่นล้ม หรือพังทลายลง ดังนั้นในวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้แจ้งอุปสรรคในการดำเนินงานครั้งที่1 ให้กับกรมอุทยานฯ ทราบ และเสนอให้ตัดรื้อทางเดินส่วนเฉพาะที่ยื่นออกมาจากคานคอนกรีต เพื่อให้ติดตั้งสะพานท่าเทียบเรือลอยน้ำได้ แต่กรมอุทยานฯ ก็เพิกเฉย

กระทั่งในวันที่ 2 เมษายน บริษัทฯ ก็ได้มีหนังสือทวงถามขอให้กรมอุทยานฯ ส่งมอบพื้นที่หน้างานที่แก้ไขแล้วให้กับบริษัทฯ ขณะเดียวกันคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ไปตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ท่าเทียบเรือลอยน้ำของบริษัทฯ แล้ว ผลการตรวจถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์เป็นไปตามสัญญาทุกประการ

ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 กรมอุทยานฯ ก็ได้มีหนังสือถึงบริษัทฯ แจ้งว่าบริษัทฯ ไม่ได้กำหนดรูปแบบ และวิธีการตัดทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำ ซึ่งบริษัทฯ ขอชี้แจงว่า ไม่ใช่งาน หรือหน้าที่ตามสัญญาของบริษัทฯ แต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่บริษัทฯ ไม่สามารถติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำได้นั้น เป็นเพราะกรมอุทยานฯ ยังมิได้ตัดทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำส่วนที่ยื่นออกมายาวประมาณ 2 เมตร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือกรมอุทยานฯ ยังมิได้ส่งมอบหน้างานที่เสร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะให้บริษัทฯ ดำเนินการติดตั้งสะพานท่าเทียบเรือลอยน้ำ

จากนั้น กรมอุทยานฯ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่5 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง และในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงได้มีการพิจารณาให้ตัดทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำที่ยื่นออกมายาวประมาณ 2 เมตร นั้นเสีย โดยวิศวกรโยธาในคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรให้มีการเสริมความแข็งแรงของทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำดังกล่าว และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และบริษัทฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจพัสดุปรากฏว่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำของบริษัทฯ ครบถ้วนเป็นไปตามสัญญาทุกประการ

แต่หลังจากนั้น บริษัทฯ ทราบมาว่า กรมอุทยานฯ ได้นำแบบก่อสร้างทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมนำมาประมูลจ้าง และก่อสร้างจนแล้วเสร็จมาถึงปัจจุบัน บริษัทฯ เห็นว่าหากนำท่าเทียบเรือลอยน้ำไปเชื่อมต่อกับทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำดังกล่าว อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเสียหายถึงแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และนักท่องเที่ยว บริษัทฯ อาจโดนข้อหาประมาทร่วมจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือถึงกรมอุทยานฯ ให้มีการแก้ไขทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำดังกล่าว แต่ปรากฏว่ากรมอุทยานฯ ก็ยังคงเพิกเฉยมาตลอด จนถึงวันนี้มีผู้รับเหมาที่ไม่ทราบว่าผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และมีใบอนุญาตดัดแปลงโครงสร้างจากกรมเจ้าท่าโดยชอบหรือไม่ เข้ามาดำเนินการแก้ไขโครงสร้างสะพานโดยพลการ

จนคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เข้าตรวจสอบพบเห็นว่ามีการกระทำการดังกล่าวจริง และวิศกรโยธาให้ความเห็นว่า การปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ผิดหลักวิศวกรรม เนื่องจากมีการสกัดโครงสร้างเดิมออก ทำให้ความสามารถรับกำลังลดน้อยลงทันที คอนกรีตจะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน จึงเป็นอันตรายอย่างมากต่อความปลอดภัยของโครงสร้างท่าเทียบเรือสาธารณะแบบนี้ อาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน จนทำให้โครงสร้างอาจพังทลายใส่นักท่องเที่ยวถึงแก่ชีวิตได้

ต่อมา ในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 บริษัทฯ จึงได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็เพิกเฉย ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จึงได้ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1938/2564 ระหว่าง บริษัท ไฮ-พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดี และในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 บริษัทฯ ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบ และดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจนถึงที่สุด

สำหรับโครงการทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำ บริเวณอ่าวโล๊ะซะมะ ทราบมาว่า สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ได้ตรวจสอบแบบแปลนแล้ว มีความเห็นว่า

          1. เป็นโครงสร้างที่ถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2522 หน่วยงาน และวิศวกรผู้ออกแบบ จะต้องมีอำนาจหน้าที่ และได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว
          2. เสาเข็ม คานคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับอาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก มาตรฐาน  ว.ส.ท.1007-34 ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
          3. งานฐานเสาเข็ม รายละเอียดขัดแย้งกัน ไม่สามารถนำไปก่อสร้างได้
          4. ไม่มีจุดอ้างอิง หมุดหลักฐาน สำหรับระดับการอ้างอิงในการก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถกำหนดระดับความสูงสิ่งก่อสร้างที่แน่นอนได้
          5. งานเสาเข็ม ฐานราก ไม่ได้ระบุ จุด ตำแหน่ง ที่จะก่อสร้าง จึงไม่อาจคำนวณจำนวนเข็มในการรับน้ำหนักแต่ละจุดได้ ทำให้ความมั่งคงแข็งแรงของโครงสร้างไม่อาจคาดเดาได้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้าง และทรัพยากรของทางราชการเสียหายในภายหลังได้
          6. ราคางานเสาเข็ม ฐานราก ที่ประมาณการสูงกว่าราคามาตรฐานของทางราชการมาก

ทั้งนี้ ทางสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ได้แจ้งให้กรมอุทยานฯ ทราบถึงความเห็น และผลกระทบที่จะตามมาแล้ว แต่กรมอุทยานฯ กลับไม่สนใจแต่อย่างใด จึงทำให้ต้องมายื่นหนังสือร้องเรียนในวันนี้

ซื้อของออนไลน์ที่ ลาซาด้า ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆LazMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.


Source link

from World eNews Online https://ift.tt/3p4psqK
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home