คนไม่โกงอยู่ยาว
๑๗ สิงหาคม พรรคฝ่ายค้านจะยื่นตีความประเด็น “นายกฯ ๘ ปี”
พูดถึงความคาดหวัง
ฝ่ายค้านคาดหวังไว้สูงว่า นี่คือจุดจบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนเส้นทางอำนาจ ในฐานะนายกรัฐมนตรี
คาดหวังไว้มากกว่าเมื่อครั้งยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเสียอีก
ผลจะออกมาเช่นไร อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ย้ำกันอีกที การวินิจฉัยกรณี นายกฯ ๘ ปี มีอยู่ ๓ แนวทาง
๑. นับจากวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ หรือปีที่ทำรัฐประหาร กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน ๘ ปี
จะสิ้นสุดในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕
๒.นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐
หากเริ่มนับในวันดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน ๘ ปี จะสิ้นสุดวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๘
เมื่อนับจากวันทพำรัฐประหาร ๒๕๕๗ พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสเป็นนายกฯ รวมทั้งสิ้น ๑๑ ปี
และ ๓. นับจากหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๒
พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
แนวทางนี้ ระยะเวลารวมกันไม่เกิน ๘ ปี ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๗๐ หรือในทางปฏิบัติ
และหากนับตั้งแต่การทำรัฐประหารปี ๒๕๕๗ ในทางทฤษฎี พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสเป็นนายกฯ รวม ๑๓ ปี
นั่นคือ ๒ แนวทางหลักที่มีการวิพากษ์วิจารณ์
ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตามแนวทางไหน ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๑ วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า…
“…คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ
และหน่วยงานของรัฐ…”
ใครจะด่า โจมตี ให้ร้าย หรือวิจารณ์อย่างไร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย
เช่นเดียวกับคำพิพากษาในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ
อาทิ กรณีศาลภาษีอากรกลางตัดสินให้เพิกถอนประเมินเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปตามที่ ทักษิณ ชินวัตร ยื่นฟ้อง เหตุดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เพราะไปออกหมายเรียก “โอ๊ค-เอม” แทน
ก็ต้องเป็นไปตามคำพิพากษา
“ทักษิณ” ชนะคดี
กลับมาที่กรณี นายกฯ ๘ ปี กติกาก็ง่ายๆ หลังวันที่ ๒๓ สิงหาคม หากศาลสั่งก่อนมีคำวินิจฉัยว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฮัย
ก็ต้องมีรองนายกรัฐมนตรี ๑ คน ปฏิติหน้าที่แทน
ซึ่งเขาคนนั้นคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
หากศาลไม่มีคำสั่งใดๆ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
เมื่อไปถึงวันที่ศาลวินิจฉัย หากคำวินิจฉัยออกมาว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเป็นนายกรักษาการ ไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทน
เป็นไปหลักการบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง
และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๘ ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ ไปสิ้นสุดในปี ๒๕๖๘ หรือ ๒๕๗๐ แล้วแต่กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจนหมดวาระของสภาผู้แทนราษฎร เดือนมีนาคมปีหน้า
จากนั้นทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงปลายเดือนเมษายน ต้นเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ และตั้งรัฐบาลใหม่
หากรัฐบาลใหม่เปลี่ยนขั้วการเมือง เส้นทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็หยุดลงชั่วคราว
และหากรัฐบาลใหม่อายุสั้น ต้องมีการเลือกตั้งอีกครั้งใหม่ก่อนปี ๒๕๖๘ หรือ ๒๕๗๐ แล้วแต่กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ยังกลับมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองได้อีกครั้ง
หากได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็เป็นได้ถึงปี ๒๕๖๘ หรือ ๒๕๗๐ แล้วแต่กรณี
เส้นทางทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีอยู่แค่นั้น ไม่ได้พิศดารอะไร
เอาเข้าจริง แม้จะผ่านกรณี นายกฯ ๘ ปี ไปได้ การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีส.ว. ๒๕๐ เสียงรองรับอยู่ก็ตาม
เพราะการเมืองไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์
ยังมีตัวแปรอื่นๆอีกมากมาย ที่จะกำหนดว่า การเมืองควรเดินไปในทิศทางไหน
มันก็เหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนที่ผ่านมา ล้วนมีโอกาสอยู่ในตำแหน่งยาวนานทั้งสิ้น หากมีปัจจัยเอื้อให้เป็นเช่นนั้น
ปัจจัยแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกันออกไป
เมื่อวันเสาร์ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ผู้มีตำแหน่งแปลกๆ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ “…ถามตรง ถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งได้ถึง ๘ ปี และมีเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล แล้วก็ชนะอีกในครั้งถัดมา เป็นรัฐบาลต่อเนื่อง บางสมัยได้ที่นั่งเกินครึ่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ คือพรรคไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทย
ถ้าไม่มีรัฐประหาร ๒๕๔๙ ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นนายกฯเลือกตั้งคนแรกที่อยู่ครบ ๘ ปี และอาจอยู่ต่อได้มากกว่านั้น หรือถ้าไม่มีรัฐประหาร ๒๕๕๗ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็อาจเป็นนายกฯ ๘ ปีได้เช่นกัน
การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ห้ามนายกฯดำรงตำแหน่งเกิน ๘ ปี แล้วมีนักกฎหมายบางส่วนอ้างว่า ช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯจากการรัฐประหาร คือคนละเรื่องกับนายกฯตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ เอามานับรวมไม่ได้ ก็ชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่”กฎหมาย” แต่เป็นการ”กดหัว” ที่เขียนไว้ใช้กับบางฝ่ายเท่านั้น
สมมติว่าคราวหน้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ แล้วส่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเคยเป็นนายกฯไม่ถึง ๓ เดือน ขึ้นดำรงตำแหน่ง วิญญูชนทั้งหลายคิดว่าหากมีการนับวาระจะรวมเวลา ๓ เดือนนั้นในระยะเวลา ๘ ปีหรือไม่
หรือสมมติให้หนักขึ้น ถ้าดร.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับมาเป็นนายกฯได้ คิดว่าการนับวาระจะเป็นอย่างไร
ผมฟันธงว่าที่เป็นมาแล้วจะถูกนับรวม และอยู่ได้ไม่เกิน ๘ ปี
ความกลับกลอก ตะแบงช่วยพล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน บางคนไม่สนแม้กระทั่งคำพูดในอดีตของตัวเอง เป็นเพราะตอนเขียนคงไม่นึกว่าจะอยู่นานขนาดนี้ หรือถ้าอยู่ต่อจริง ยังมีศาลรัฐธรรมนูญคอยวินิจฉัยอีกที
ถ้าเจตนารมย์คือการป้องกันการสืบทอดอำนาจ ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤติ กรณีนี้ต้องใช้กับพล.อ.ประยุทธ์ อย่างเคร่งครัดที่สุด เพราะรัฐบาลปัจจุบันคือการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และบ้านเมืองกำลังวิกฤตทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ผมเคยพูดไว้ว่ากลุ่มคนที่มาร่างรัฐธรรมนูญให้เผด็จการไม่ใช่นักกฎหมาย แต่คือผู้รับเหมาทำงานตามสั่ง จะเกิดวิกฤตสูญเสียอะไรข้างหน้าไม่สนใจ ไม่รับผิดชอบ จึงไม่ขอตั้งคำถามต่อคนกลุ่มนี้ แต่ขอถามตรงๆถึงผู้กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดว่าตัวเองเป็นนายกฯมาแล้วกี่ปีครับ…”
รัฐประหารไม่ถูกหรอกครับ แต่ถ้าไม่โกงอยู่นาน ๘ ปีสบายๆ ไม่มีใครทำไรได้
ดู “ลุงตู่” เป็นตัวอย่าง ๒๓ สิงหาคม จะครบ ๘ ปีแล้ว.
The post คนไม่โกงอยู่ยาว appeared first on .
Source link
from World eNews Online https://ift.tt/jAT1z0s
via World enews
Labels: news, World eNews Online, worldnews
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home