Tuesday, September 6, 2022

สภาเดือด! โหวตแก้ปิดสวิตซ์ “ส.ว.” เลือกนายกฯ “สมชัย” ห่วง “วุฒิฯ”เสียงหาย “คำนูณ” ชี้ วิจารณญาณส่วนบุคคล



จับตาโหวตแก้ม.272 ปิดสวิตซ์ ส.ว. เลือกนายกฯ “สมชัย” ห่วงสมาชิกวุฒิฯไม่ร่วมประชุม ทำให้เสียง โหวตหนุน หาย “สมชาย” ยัน ไร้ปัญหาองค์ประชุม “คำนูณ” ชี้ วิจารณญาณส่วนบุคคล ปธ.วิปรัฐบาล เชื่อ โอกาสแท้งสูง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(5 ก.ย.65) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ฐานะผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยให้ยกเลิกมาตรา 272 ที่กำหนดให้วุฒิสภาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันที่ 6-7 ก.ย.เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระแรก กล่าวว่า

ตนเชื่อว่าส.ส. จะสนับสนุนการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว แต่ส.ว.นั้น ยังประเมินยาก เพราะเชื่อว่าส.ว.ต้องพิจารณาสัญญาณที่ผู้ใหญ่ส่งมา ส่วนกรณีที่มีส.ว.บางรายออกมายืนยันว่า จะไม่ยอมให้แก้ไขมาตราดังกล่าว เชื่อว่าทิศทางของส.ว.ที่ไม่สนับสนุนต้องระบุในทำนองดังกล่าว แต่ตนเชื่อว่า การชี้ขาดหรือตัดสินใจนั้น ต้องสู้กันในสภาผ่านการอภิปรายชี้แจงเหตุผลอีกครั้ง

เมื่อถามถึงประเด็นที่ส.ว.ไม่ต้องการให้แก้ไข เพราะอำนาจดังกล่าวเหลืออีกไม่กี่ปีจะหมดไปตามวาระ นายสมชัย กล่าวว่า เวลาเป็นของมีค่า หากคิดว่าใช้เวลาให้หมดไปไม่เกิดประโยชน์เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ส.ว. ต้องมีความกล้า คือ โหวตรับ หรือไม่รับ ไม่ใช่งดออกเสียงหรือไม่มาประชุม เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

การเสนอให้รัฐสภาพิจารณาโละอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯมีหลายครั้งแล้ว และได้คะแนนแตกต่างกัน จำได้ว่าส.ว.ที่โหวตเห็นด้วยสูงสุดคือ 56 คน แต่หลายครั้งที่ผ่านมามีเสนอแก้ไขหลายประเด็นในร่างเดียวทำให้ไม่ผ่าน แต่รอบนี้เสนอแก้ไขเพียงประเด็นเดียว

ภาพ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จากแฟ้ม
อย่างไรก็ดียังประมาณไม่ถูกว่าจะได้คะแนนมากขึ้นหรือไม่ หรือส.ว.คิดอย่างไร ส่วนที่เห็นด้วยจะมีมากแค่ไหนไม่รู้ ปัญหาของส.ว.ตอนนี้ คือ ไม่มาประชุม ที่ผ่านมามีส.ว.ประชุมเฉลี่ย 150 คนจากจำนวนทั้งหมด 250 คน เมื่อไม่มาประชุมเสียงจะหายไป ดังนั้นขอให้รัฐสภาเป็นเวทีถกเถียงจริงจัง ฟังเหตุผลแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ยกมือตามกันหรือคำสั่งของวิปแต่ละฝ่ายที่ไม่รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี หรือยกมือตามสิ่งที่นัดหมายไว้ ไม่เกิดประโยชน์

“ผมอยากเห็นสภาไทยเอาเหตุผลมาคุยกันหากไม่แก้ไข ต้องแสดงเหตุผล ฝ่ายที่จำเป็นแก้ไข ต้องแสดงเหตุผลซึ่งกันและกัน ผลเป็นอย่างไร ผมยอมรับได้ ไม่ใช่ห้องประชุมไม่ฟัง อยู่ไม่กี่คนไม่รับฟังอะไร ไม่ถกเถียงกันเท่าที่ควร หรือยกมือตามกันที่ได้รับมอบหมาย สั่งการมา สะท้อนว่า สภาไม่ได้เป็นความหวังแก้ปัญหา”

ทั้งนี้นายสมชัย โพสต์เฟซบุ๊กให้จับตาการลงมติของส.ว.และส.ส. เพราะการลงมติครั้งนี้มีความหมายเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองไทยไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ 1. ส.ว. มีความเป็นกลางทางการเมือง ตามมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ฝักใฝ่ หรือยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด 2. การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยู่ภายใต้การพิจารณาว่า ส.ว. จะลงมติให้ใคร หรือ ควรจับมือกับพรรคการเมืองใดที่ ส.ว. มีแนวโน้มสนับสนุน 3.เป็นการนำประเทศไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบสากล และ เป็นการเสริมสร้างเกียรติภูมิของวุฒิสภา
อย่างไรก็ตาม วันนี้ที่รัฐสภา มีประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย(วิป 3 ฝ่าย) ประกอบด้วย วิปวุฒิสภา วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 6-7ก.ย.นี้

ภาพ นายสมชาย แสวงการ จากแฟ้ม
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งจากมติวิป 3 ฝ่าย จะให้เวลาผู้เสนอร่างรวมทั้ง 5 ฉบับ เป็นเวลา 2 ชม. ฝ่ายรัฐบาล 6 ชม. ฝ่ายค้าน 6 ชม. ส.ว. 6 ชม. และประธานในที่ประชุม 1 ชม.

คาดว่าการประชุมวันแรกจะพิจารณาจนเลยเวลาเที่ยงคืน จากนั้น วันที่ 7 ก.ย. จะเริ่มประชุมอีกครั้งเวลา 09.00 น. คาดว่าไม่เกิน 19.00 น. จะสามารถโหวตได้ ซึ่งการนับคะแนนจะเป็นแบบขานชื่อรายบุคคล โดยใช้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และในจำนวนนั้นต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 ให้ความเห็นชอบด้วย จึงคาดว่าการประชุมจะเสร็จสิ้นก่อนเวลา 22.00 น.

ทั้งนี้ ในการประชุมวิป 3 ฝ่าย ตนได้หารือด้วยว่าการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 6 – 7 ก.ย.นี้ อยากให้ ส.ส. และ ส.ว. ช่วยกันรักษาบรรยากาศให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งทุกคนมีสิทธินำเสนอ และชี้แจงได้เต็มที่ด้วยเหตุด้วยผล

เมื่อถามว่า มีความกังวลเรื่องขององค์ประชุมในส่วนของส.ว. นายสมชาย กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของส.ว.แต่ละท่านอยู่แล้ว ยังไม่เห็นกระรอกอย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้ เพราะเชื่อว่า ส.ว.ก็มีเหตุผล และมีความรับผิดชอบ

ถามว่า การโหวตของส.ว.มีการรอสัญญาณจากผู้ใหญ่บางคนหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่มีผู้ใหญ่ กำนัน อบต.อะไรทั้งนั้น เพราะการโหวตเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีหลายประเด็น มีเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับส.ว.ด้วย ดังนั้น แต่ละคนจึงมีเอกสิทธิ์ในการโหวต ไม่มีใครสั่งใครได้ เรื่องดังกล่าวจึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และเชื่อว่า การประชุมจะราบรื่น

ภาพ นายคำนูณ สิทธิสมาน จากแฟ้ม
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ส่วนตัวมีความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นองค์ประชุม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมอะไรก็พร้อม ส่วนความเห็นจะเป็นอย่างไร ขอใช้วิจารณญาณของตนเอง ส่วนที่ผู้เสนอร่างแก้ไขมีความเป็นห่วงเรื่ององค์ประชุมในส่วนของส.ว.นั้น ตนยังไม่เคยได้ยินว่าจะมีอะไรทำนองนั้น เนื่องจาก ส.ว.ไม่มีพรรคการเมือง จึงไม่มีการหารือกันชัดเจน แต่ยืนยันได้ว่า ไม่มีการชี้นำว่า ส.ว.จะตัดสินใจลงมติอย่างไร และไม่มีการรอสัญญาณอะไร

“การลงมติของส.ว. เป็นการใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคล ซึ่งเคยมีร่างแก้ไขลักษณะนี้แล้ว แต่ละคนก็เคยโหวตไปแล้ว ก็คงเป็นไปทำนองนั้น โดยส่วนตัวขอรับฟังความเห็นของผู้เสนอร่างก่อนว่าเป็นอย่างไร”

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมวิปรัฐบาล ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ว่า ต้องดูเนื้อหาสาระอีกครั้ง แต่เมื่อดูแล้วก็เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การจะไปแก้ในหลักการตนคิดว่าคงทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียงของ ส.ว.ด้วย

เมื่อถามว่า มีสัญญาณที่จะสกัดไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านไปได้หรือไม่ นายนิโรธ กล่าวว่า ไม่มี

เมื่อถามย้ำว่า ประเมินแล้วคงจะไม่ได้คะแนนจากส.ว.หรือไม่ เพราะไปแก้อำนาจของเขา นายนิโรธ กล่าวว่า คาดว่า เป็นเช่นนั้น แต่ ส.ว.บางคนก็จะพิจารณา

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เหตุผลของทั้งสองฝ่าย ที่สนับสนุนให้แก้ และไม่สนับสนุนเพราะอะไร รวมทั้งมีเกมจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อไม่ให้แก้เรื่องนี้หรือไม่

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า อำนาจของส.ว.ในส่วนนี้ ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ควร เนื่องจากส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ของ คสช. ซึ่งได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร จึงเชื่อว่า การโหวตเลือกนายกฯของส.ว. จะต้องมีการชี้นำจากผู้มีอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นการตัดอำนาจส่วนนี้ออกไป ถ้าทำได้ ข้อครหาเกี่ยวกับเผด็จการสืบทอดอำนาจก็จะลดลงไปด้วย

ขณะเดียวกัน การยังคงหวงอำนาจในส่วนนี้เอาไว้ โดยเฉพาะส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ก็เท่ากับเป็นไปตามที่ถูกกล่าวหา หรือไม่ แม้อาจมีเหตุผลที่รับฟังได้ก็ตาม?

จึงนับเป็นอีกเรื่องที่น่าจับตามอง ไม่แพ้ “ศาลรัฐธรรมนูญ”จะวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ ที่กำลังถูกจับตามองอยู่ในเวลานี้

ซื้อของออนไลน์ที่ shopee ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆ShopeeMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.


Source link

from World eNews Online https://ift.tt/SuzxFe8
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home