ใครจะมาแทนนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง?
ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนหลี่ เค่อเฉียง หลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เริ่มตั้งแต่เมื่อวานนี้?
แรกเริ่มมีตัวเต็งอย่างน้อย 2 คน…หวาง หยาง, เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มณฑลกวางตุ้ง
คนที่ 2 คือ หู ชุนหวา, 1 ใน 4 รองนายกฯ คนปัจจุบัน
แต่ดูเหมือนว่าสื่อหลายสำนักเริ่มจะกล้าฟันธงว่าคนแรกน่าจะมีโอกาสที่จะได้รับความไว้วางใจจาก สี จิ้นผิง มากกว่า
แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงนาทีสุดท้ายอย่างไรหรือไม่ สัปดาห์นี้ก็รู้กันแน่นอน
เพราะยังมีการเอ่ยชื่อของ “หานเจิ้ง” และ “หลิวเฮ่อ” ซึ่งเป็นรองนายกฯ อีก 2 คนที่อาจจะเป็น “ม้ามืด” ชิงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้
คนมานั่งตำแหน่งนี้สำคัญมาก เพราะต้องดูแลด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก
ในจังหวะที่จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายๆ ด้าน
ล่าสุด สื่อตะวันตกบางสำนักฟันธงว่า คนที่น่าจะเป็นตัวเต็งสำคัญที่สุดที่จะมานั่งเก้าอี้นายกฯ จีนแทน หลี่ เค่อเฉียง คือ
หวาง หยาง หัวหน้าสาขาพรรคคอมมิวนิสต์ ณ มณฑลกวางตุ้ง
รอยเตอร์บอกว่า หวาง หยาง วัย 67 ปี เคยแสดงจุดยืนในทาง “เสรีนิยม” ในการบริหารเมือง
แต่คำว่า “เสรีนิยม” ในที่นี้ต้องเข้าใจว่าไม่ได้มีความหมายเหมือน “liberal” แบบตะวันตก
เพียงแต่มีแนวทางที่ไม่เคร่งครัดในกรอบของความเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น
ยิ่งพอมาอยู่ใต้สี จิ้นผิง, เขาก็ลดดีกรีความเป็น “เสรีนิยม” ลงไปอย่างเห็นได้ชัด
ที่น่าจะเป็นผลงานที่ประทับใจ สี จิ้นผิง ก็คือ การที่ หวาง หยาง ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคสาขากวางตุ้ง ซึ่งติดกับฮ่องกงนั้น
เขาเดินหน้ายกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมที่ล้าสมัย โดยเน้นหนักไปในทางการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
อีกทั้งยังตอบสนองแนวทางของ สี จิ้นผิง ในการเน้นนโยบายภาคสังคมที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
หวาง หยาง…ตัวเต็งเบอร์ 1
ที่ว่าเขามีท่าที “เปิดกว้าง” นั้นมาจากหลายกรณีที่ หวาง หยาง ตัดสินใจเดินหน้าลงโทษคนกระทำผิด แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
เช่น เมื่อปลายปี 2011 ขณะเกิดเหตุเผชิญหน้ากันกรณีเเย่งที่ดิน หวาง หยาง ไล่เจ้าหน้าที่ที่จับได้ว่าทุจริตประพฤติมิชอบออกจากตำแหน่งอย่างเด็ดเดี่ยว
อีกกรณีหนึ่ง เขาเคยอนุญาตให้มีการประท้วง ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยชาวบ้านที่กล้าฝ่าฝืนอิทธิพลของการเมืองระดับรากหญ้า
โดยตำแหน่งแล้ว นายกรัฐมนตรีของจีนคือผู้นำอันดับ 2 ของรองจากประธานาธิบดี
แต่ในทางปฏิบัติสำหรับจีนภายใต้ สี จิ้นผิง นั้น อำนาจบารมีของนายกฯ มิได้มีความโดดเด่นหรือเป็นอิสระจากร่มเงาของผู้นำสูงสุด
เป็นที่รู้กันว่าเมื่อท่านประธานาธิบดีสีได้รวมศูนย์อำนาจไว้ในตัวเอง คนที่เป็นนายกฯ ก็คงจะเป็นเพียงผู้รับนโยบายจากเบอร์ 1 ในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะหากโยงกับประเด็นอื่น เช่น ในกรณีโรคระบาดโควิด-19 ที่สี จิ้นผิง ยืนยันว่าจะต้องให้ความสำคัญกับการระงับการแพร่กระจายของโรคมากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจ
นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ก็จำเป็นต้องเดินตามแนวทางนั้น
หู ชุนหวา…ตัวเต็งเบอร์ 2
ประวัติของ หวาง หยาง น่าสนใจ เพราะแม้จะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวฐานะดี แต่เขาก็ก้าวขึ้นมาในหน้าที่งานการอย่างโดดเด่น
เขาเคยเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตอาหาร และทำงานตั้งเเต่อายุยังน้อยเพื่อเลี้ยงครอบครัว แม่ของเขาเป็นเเม่เลี้ยงเดี่ยว
หวาง หยาง เริ่มฉายแววให้เห็นเมื่อได้รับความสนใจจาก เติ้ง เสี่ยวผิง ในช่วงเวลาที่เติ้งกำลังสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งในหลายๆ ด้าน
ต่อมา หยาง หวาง ก็มีความใกล้ชิดกับ หู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีจีนอีกคนหนึ่ง
นักข่าวต่างชาติที่เคยพบเขาบอกว่า หวาง หยาง มีสไตล์การสนทนาที่เป็นกันเอง และมีไหวพริบในการตอบคำถามอย่างดี
เมื่อกว่า 10 ปีก่อน หวาง หยาง นัดพบปะกับนักข่าวที่กวางเจา
เขาไม่เหมือนผู้นำระดับสูงของจีนคนอื่นตรงที่ว่า หวาง หยาง มีความมั่นใจในตัวเองสูง และสามารถสนทนากับสื่อแบบไร้สคริปต์ได้อย่างน่าประทับใจ
บ่อยครั้งเขาก็แสดงถึงอารมณ์ขัน อันเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำจีนคนอื่นไม่ค่อยจะมีนัก
แค่เขาวางตัวเป็นกันเองกับสื่อก็ทำให้ หวาง หยาง มีความแตกต่างกับผู้นำจีนคนอื่นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว
ในแง่การสัมผัสกับต่างประเทศ หวาง หยาง เคยรับผิดชอบงานด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกับสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นเขาจึงมีความคุ้นเคยกับความบาดหมางระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันในประเด็นด้านการค้าดีพอสมควร
หวาง หยาง ก้าวขึ้นในพรรคอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
เมื่อปี 2017 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาอยู่ในคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรค
นั่งเก้าอี้อาวุโสอันดับ 4 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 7 คน
นอกจากนั้นเขายังดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มที่ปรึกษาด้านการเมืองของพรรคที่ชื่อว่า Chinese People’s Political Consultative Conference หรือ CPPCC
คำถามสำคัญคือ ถ้า หวาง หยาง มีความคิดในแนว “เสรีนิยม” จริง เหตุไฉน สี จิ้นผิง จึงไว้วางใจเขา?
นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์บอกว่า สีให้ความไว้ใจเขาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการที่ หวาง หยาง ทำงานอย่างเงียบ ๆ
แน่นอน ที่สำคัญมากคือ การที่เขาแสดงความจงรักภักดีต่อสีในช่วง 5 ปีที่อยู่ในคณะกรรมการใหญ่ของพรรคอย่างไม่เสื่อมคลาย
พอมาอยู่ใกล้กับสี หวาง หยาง ก็ลดความเข้มข้นของความคิด “นอกกรอบ” ลงอย่างเห็นได้ชัด
เช่น ในกรณีจุดยืนต่อประเด็นการเมืองร้อนๆ เช่น ไต้หวัน ซินเจียงและทิเบต เขาก็ยืนข้าง สี จิ้นผิง อย่างเหนียวแน่น
ภายในพรรค หวาง หยาง รับผิดชอบด้านนโยบายของพรรคต่อมณฑลซินเจียงทางตะวันตกของจีน
ส่วนรองนายกฯ หู ชุนหวา, รองนายกฯ ที่เป็นตัวเต็งอีกคนนั้น มีความโดดเด่นเฉพาะตัวหลายด้านเช่นกัน
เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งส่วนหนึ่งของฝั่งเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์
และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในนาม “หูน้อย”
เพราะแม้จะไม่มีความสัมพันธ์ในครอบครัวแม้จะมีแซ่เดียวกัน แต่ก็มีความคล้ายคลึงในอาชีพการงานของเขากับอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หู จิ่นเทา
หู ชุนหวา กลายเป็นผู้ว่าราชการที่อายุน้อยที่สุดของจีนเมื่อเข้ารับตำแหน่งในมณฑลเหอเป่ยในปี 2551
จากนั้นเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมองโกเลียในปี 2552
ในปี 2555 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลกวางตุ้ง และเข้าสู่ CCP Politburo อย่างรวดเร็วเช่นกัน
ใครจะเข้าป้ายได้ตำแหน่งนายกฯ จีนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการ “ลุ้น” กันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ติดตามการเมืองจีนเช่นกัน.
The post ใครจะมาแทนนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง? appeared first on .
Source link
from World eNews Online https://ift.tt/fMWVYxe
via World enews
Labels: news, World eNews Online, worldnews
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home