Monday, October 3, 2022

แบงก์ชาติบอกว่าพร้อมใช้ ‘ยาแรง’ แต่ ‘เครื่องมือมีจำกัด’



โดยข้อมูลจากแบงก์ชาติแจ้งว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปีนั้น

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 18.4%

เยนอ่อนค่า 20.3%

ปอนด์อ่อนค่า 19.8%

วอนอ่อนค่า 16.4%

เปโซอ่อนค่า 13.6%

ดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่า 12.6%

บาทอ่อนค่า 12.1%

 คุณปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า การอ่อนค่าของค่าเงินในช่วงที่ผ่านมานี้ ยังไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท เป็นการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ 

สาเหตุหลักก็เป็นเพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงมาก ซึ่งตั้งแต่ต้นปีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นถึง 18%

“การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกือบทุกประเทศในโลกนี้มีค่าเงินที่อ่อนลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 

ฉะนั้น การที่เงินบาทอ่อนลงไม่ใช่ปัจจัยเฉพาะเศรษฐกิจไทย และหากมองการอ่อนค่าของเงินบาทแค่ในภูมิภาคเอเชีย เงินบาทยังอยู่ระดับกลางๆ อ่อนลงมา 12% ตั้งแต่ต้นปี อ่อนค่าลงน้อยกว่าไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเกาหลี” คุณปิติบอก

แต่ กนง.ก็บอกว่าเรื่องค่าเงินเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงที่มีความผันผวนสูง 

คณะกรรมการตระหนักว่าความสามารถของนโยบายการเงิน และเครื่องมือที่มีอยู่ ในการที่จะดูแลการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ “มีจำกัด”

ถามว่าถ้าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอีก ไทยจะทำอะไรได้บ้าง

คุณปิติยอมรับว่า “ก็คงทำได้ไม่เยอะ”

และเสริมว่า “หากต้องทำก็ต้องใช้อะไรที่แรง”

แม้ไทยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ค่าเงินเราก็อ่อนไป 12% 

แต่มีหลายๆ ประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เกาหลี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าไทยเยอะ ตั้งแต่ 1-2% ค่าเงินเขาเทียบกับดอลลาร์ก็ยังอ่อนไปมากกว่าของไทย   

แสดงว่าดอกเบี้ยก็เป็นข้อจำกัดว่าจะสามารถดูแลเรื่องค่าเงินเปรียบเทียบกับดอลลาร์ได้มากน้อยขนาดไหน 

เพราะในท้ายที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเป็นเรื่องของดอลลาร์ที่แข็งเป็นปัจจัยหลัก

                    มีความกังวลเรื่องเงินทุนไหลออกจากประเทศหรือไม่?

เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติบอกว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิเข้าประเทศไทยยังเป็นบวกอยู่ โดยเข้าในระบบการลงทุนหุ้นจำนวนมาก 

จึงเชื่อว่าไทยไม่มีปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออก เพราะนักลงทุนยังเห็นศักยภาพของประเทศไทย เพราะเสถียรภาพไทยยังแข็งแกร่ง

เงินทุนสำรองต่างประเทศที่มีอยู่ หากเทียบกับสัดส่วนจีดีพีแล้ว ไทยอยู่อันดับที่ 6 ของโลก และหนี้สินของไทยในต่างประเทศก็ค่อนข้างน้อย หากเทียบกับปริมาณทุนสำรอง โดยมีทุนสำรองปริมาณ 3 เท่าของหนี้สินระยะสั้น

ในภาคธุรกิจนั้น การที่ค่าเงินบาทอ่อนลงก็ช่วยผู้ส่งออกระดับหนึ่ง 

แต่ที่เป็นห่วงคือ ต้นทุนขานำเข้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าต้องจ่ายเงินสูงขึ้นในรูปของสกุลเงินบาท 

ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ 

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 และ 3.8 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ 

ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ 

ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและในมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น 

ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่า คาดส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และ 2.6 ตามลำดับ 

โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลก และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 2.4 ตามลำดับ 

ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว 

 แบงก์ชาติบอกว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ

คณะกรรมการเห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ที่น่าสนใจคือ คำแถลงที่ว่าหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการพร้อมที่จะ “ปรับขนาดและเงื่อนเวลา” ของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

นั่นย่อมแปลว่าทุกอย่างยังอยู่ในภาวะของความไม่แน่นอนสูง…และปัจจัยหลายประการที่โยงกับความขัดแย้งระดับสากลก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของไทย

ที่ว่าพร้อมจะใช้ “ยาแรง” นั้นยังไม่มีใครบอกได้ว่า “แรง” แค่ไหนจึงจะเรียกว่า “แรงพอ”!.

ซื้อของออนไลน์ที่ shopee ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆ShopeeMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.


Source link

from World eNews Online https://ift.tt/YRMak7f
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home