“อนุทิน” ยืนหนึ่งผู้นำการเมืองเหนือความขัดแย้ง ในสถานการณ์สังคมไทยแตกขั้ว แบ่งข้าง ** โศกนาฏกรรม “อิแทวอน” บทเรียน “คนตายในพื้นที่แคบ” อย่าให้เกิดขึ้นแถวตรอกข้าวสาร หรือที่ไหนๆ ในบ้านเรา
ข่าวปนคน คนปนข่าว
** “อนุทิน” ยืนหนึ่งผู้นำการเมืองเหนือความขัดแย้ง ในสถานการณ์สังคมไทยแตกขั้ว แบ่งข้าง
ช่วงท้ายรัฐบาล เตรียมเข้าสู่โหมดเลือกตั้งใหม่ สำนักโพลต่างๆ มักจะทำโพลเช็กเรตติ้ง ว่าในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ ประชาชนเห็นว่าใครเหมาะเป็นผู้นำคนต่อไป หรือพรรคการเมืองไหนมาแรง
อย่างสำนัก “ซูเปอร์โพล” ที่ ดร.นพดล กรรณิกา เป็นผู้อำนวยการอยู่ ก็ออกมาเผยผลสำรวจครั้งล่าสุด ในหัวข้อ “ผู้นำการเมือง เหนือความขัดแย้งของสังคม” โดยถามความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างทุกสาขาอาชีพ ทั่วประเทศกว่า 2 พันคน เมื่อช่วงวันที่ 26–29 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า…
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.1 ระบุว่า ต้นตอของความขัดแย้งของสังคมไทย มาจากขบวนการลบหลู่ ดูหมิ่น สถาบันหลักของชาติ , รองลงมา คือร้อยละ 53.4 เห็นว่าเป็นเพราะกลุ่มการเมืองรับเงินต่างชาติ มาป่วนเมืองไทย , ขณะที่ร้อยละ 41.9 เห็นว่า “ขบวนการสามนิ้ว” เป็นตัวการก่อความขัดแย้ง , ร้อยละ 32.0 ระบุ ขบวนการปฏิรูปสถาบันหลักของชาติ คือต้นตอของความขัดแย้ง , ขณะที่ ร้อยละ 26.2 ระบุ มาจากการปฏิวัติ ยึดอำนาจ…
สำหรับ “ผู้นำการเมืองเหนือความขัดแย้งของสังคม” ที่กลุ่มตัวอย่างเทคะแนนให้เป็นอันดับ 1 หรือ ร้อยละ 35.8 คือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ส่วนเหตุที่ชอบนั้นเป็นเพราะ ไม่มีประวัติขัดแย้งกับใคร พูดน้อย ใครด่ามาถือเป็นข้อเตือนใจ เป็นคนจิตใจดี มีผลงานช่วยเหลือต่อชีวิตผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจ และอื่นๆ แก้ปัญหาวิกฤตโควิด ระบบสาธารณสุข เป็นคนดีช่วยเหลือชาวบ้านคนตัวเล็กตัวน้อย มีฝีมือ มีเงิน ร่ำรวย และ ชอบคนรวย เป็นต้น
ตามมาด้วยอันดับ 2 หรือ ร้อยละ 29.7 คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้นำการยึดอำนาจ คุมอยู่ ไม่ลุกลาม บ้านเมืองเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ซื่อสัตย์ โปร่งใส และชอบทหาร เป็นต้น
อันดับ 3 หรือ ร้อยละ 13.1 ระบุ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย เพราะอยากเห็นผู้หญิงเป็นผู้นำ เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่มีประวัติขัดแย้งกับใคร และเป็นลูกสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น
เมื่อลงรายละเอียดถึง “ช่วงอายุ” ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า “อนุทิน” ได้รับฐานสนับสนุนจากกลุ่มอายุ 25–39 ปีมากที่สุด คือร้อยละ 39.5 รองลงมาคือกลุ่มอายุไม่เกิน 24 ปี ร้อยละ 33.1 และกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ร้อยละ 31.9
ส่วน“พล.อ.ประยุทธ์” พบว่าฐานสนับสนุนเป็นกลุ่มอายุไม่เกิน 24 ปี ร้อยละ 18.8 กลุ่มอายุ 25–39 ปี ร้อยละ 25.2 และ กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ร้อยละ36.5
ขณะที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ได้รับฐานสนับสนุนจากกลุ่มอายุไม่เกิน 24 ปี ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่กลุ่มอายุที่ยิ่งสูงขึ้น ยิ่งมีสัดส่วนฐานสนับสนุนลดลง
จะเห็นว่า “อนุทิน” ได้รับเสียงสนับสนุนทั้งจาก กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนวัยกลางคน และผู้สูงอายุ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ต่างจาก “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งคนที่ชื่นชอบ จะเป็นผู้สูงอายุ ขณะที่ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ แต่วัยกลางคน และผู้สูงอายุจะไม่โอเคด้วย
ผลการสำรวจครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า ประชาชนมองความขัดแย้งของสังคมไทย ว่ามีต้นตอมาจาก การลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันหลักของชาติ ซึ่งก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ฝ่ายหนึ่ง ปกป้อง เทิดทูน จงรักภักดี กับอีกฝ่ายที่พยายามวิพากวิจารณ์ ด้อยค่า หาทางปฏิรูป และยังมีกลุ่มการเมืองรับเงินต่างชาติมาป่วน มีขบวนการสามนิ้ว รวมทั้งการปฏิวัติ ยึดอำนาจ การควบรวมผูกขาดทางธุรกิจ พลังงาน อาหาร และสื่อสาร และช่องว่างความเหลื่อมล้ำของงบประมาณ และทรัพยากรระหว่างการพัฒนาเมืองกับชนบท ก็มีส่วนในการสร้างความขัดแย้ง
ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนจึงต้องการ “ผู้นำทางการเมือง” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “นายกรัฐมนตรี” ที่อยู่เหนือความขัดแย้ง เพื่อเป็นผู้ถือธงนำในการสร้างสรรค์สังคม เพื่อไปสู่ความสมานฉันท์ ปรองดองของคนในประเทศ
“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จึงได้รับการเลือกให้เป็น “ผู้นำการเมืองที่อยู่เหนือความขัดแย้งของสังคม” ซึ่งในเหตุผลของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมานั้น เห็นว่า “อนุทิน” เป็นนักการเมืองที่มีคู่ขัดแย้งน้อยที่สุด เป็นคนพูดน้อย ใครด่ามาก็จะไม่โต้ตอบ แต่ถือเป็นข้อเตือนใจที่จะนำไปแก้ไขปรับปรุง เป็นคนจิตใจดี มีผลงานช่วยเหลือต่อชีวิตชาวบ้าน จากโครงการ “หัวใจติดปีก” ที่ใช้เครื่องบินส่วนตัวนำทีมแพทย์ไปรับหัวใจ หรืออวัยวะที่มีผู้บริจาค เพื่อมาช่วยผู้ป่วยที่ผ่าตัดหัวใจ และอวัยวะอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง แก้วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำได้ดี ไม่มีประวัติด่างพร้อยในเรื่องทุจริต คอร์รัปชัน มีฐานะดี และชาวบ้านเชื่อว่าคนมีฐานะดี จะช่วยพวกเขาได้
หากย้อนดูเส้นทางการเมืองของ “อนุทิน”จะเห็นว่าเขาเป็นผู้สืบทอดของ “ปู่จิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย และผู้ก่อตั้งบริษัท “ซิโน-ไทย” บริษัทรับเหมาก่อสร้างในลำดับต้นๆของประเทศไทย
ปี 2539 เขาเป็นที่ปรึกษา รมว.การต่างประเทศ และเป็นรมช.สาธารณสุข ช่วงรัฐบาล “ทักษิณ 2” …ต่อมาพรรคไทยรักไทย ถูกยุบ “อนุทิน” ต้องเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เมื่อพ้นโทษแบน เขาได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่14 ต.ค.55
ถึงวันนี้ “อนุทิน” เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีส.ส.ระดับ “บ้านใหญ่”ต้องการย้ายไปร่วมชายคา
กว่า 20 ปี ที่ “อนุทิน” โลดแล่น เก็บรับประสบการณ์ ผ่านการเคี่ยวกรำทางการเมือง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ทิศทางลม เรียกได้ว่า เข้าใจธรรมชาติของการเมืองไทย เข้าใจระบบราชการไทย มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญ มีความชัดเจนว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และวันนี้เขายังได้รับความเห็นจากประชาชนให้เป็น “ผู้นำการเมืองเหนือความขัดแย้ง”
…คุณสมบัติเหล่านี้ พอจะเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยได้หรือยัง
** โศกนาฏกรรม “อิแทวอน” บทเรียน “คนตายในพื้นที่แคบ” อย่าให้เกิดขึ้นแถวตรอกข้าวสาร หรือที่ไหนๆ ในบ้านเรา
ฮัลโลวีนปีนี้ กลายเป็นเทศกาลที่ก่อความเศร้าสลดใจคนทั่วโลก เมื่อเกิดเหตุ “คนเหยียบกันตาย” ในย่านอิแทวอน แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของกรุงโซล เกาหลีใต้ ตามที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ล่าสุดถึงช่วงเย็นวานนี้ (30 ต.ค.) มีผู้เสียชีวิตแล้ว 153 ราย เป็นชาวต่างชาติ 20 ราย ในนั้นรวมสาวไทยวัย 27 ปี 1 คน ที่ต้องขอแสดงความเสียใจไว้ ณ ที่นี้
ต้นสาวราวเรื่องของเหตุสลดครั้งนี้ ตามที่สื่อต่างประเทศรายงาน ก็เนื่องมาจากผู้คนแออัดยัดเยียดเข้าไปเที่ยวในย่าน “อิแทวอน” ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จัดเทศกาลฮัลโลวีนเป็นประจำทุกปี ในช่วงปลายเดือนตุลาคม แต่ต้องหยุดไป เนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 พอกลับมาจัดอีกครั้ง จึงเหมือนกับได้โอกาสปลดปล่อยหลังอัดอั้นมา 3 ปีเต็มๆ มวลมหานักท่องเที่ยวจากภายในเกาหลีใต้ และจากทั่วโลกจึงหลั่งไหล เข้ามา
แต่ด้วยลักษณะสถานที่ ย่านอิแทวอนที่เป็นซอยแคบๆ เต็มไปด้วยคลับ บาร์ ร้านอาหาร ร้านขายของแบรนด์เนม ทั้งสองฟากข้างทาง ตามข่าวบอกว่า มีผู้คนประมาณ 100,000 คน ทะลักเข้ามาในช่วงเย็นของวันที่ 29 ต.ค. จึงเกิดความแออัดยัดเยียดจนเดินไม่ได้ แต่ก็ยังมีคนเบียดเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ
เหตุสลดได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 29 ต.ค. ตามเวลาในเกาหลี หรือ 20.20 น. ตามเวลาบ้านเรา บริเวณตรอกเล็กๆ ใกล้กับโรงแรมแฮมิลตัน ซึ่งเป็นทางลงเนิน เมื่อมีกลุ่มคนที่อยู่บริเวณนั้นล้มลง คนอื่นๆ จึงล้มทับต่อๆ กันเป็นโดมิโน คนที่ถูกทับอยู่ด้านล่างขาดอากาศหายใจนานนับชั่วโมง กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งตามข่าวบอกว่ามีเจ้าหน้าที่ดูแลแค่ 200 คนเท่านั้น
มีกระแสข่าวอีกด้านบอกว่า จุดเริ่มต้นของเหตุโกลาหล เนื่องจากมีคนดังมาเที่ยวผับ แล้วฝูงชนที่เป็นแฟนคลับพยายามจะกรูเข้าไปในผับดังกล่าว จนมีคนล้มลง ก่อนบานปลายกลายเป้นเหตุสะเทือนขวัญไปทั่วโลก
ขณะที่สื่อโซเชียลฯ แดนกิมจิ บางรายก็เสนอทฤษฎีว่าอาจเป็นเพราะฤทธิ์ยาเสพติด โดยมีภาพถ่ายหลายภาพที่อ้างว่าเป็น “ท็อฟฟี่ยาเสพติด” ซึ่งแจกจ่ายกระจายกันในงานนี้ ถูกนำออกเผยแพร่ไปในทวิตเตอร์
สำนักข่าวต่างประเทศ อธิบายสาเหตุที่มีคนตายจำนวนมาก ว่า เป็นเพราะผู้คนจำนวนมากที่อัดกันเข้าไปอยู่ในถนนแคบๆ ทำให้หลายคนเป็นลมล้มอยู่ในท่ามกลางฝูงชนก่อนถูกเหยียบย่ำ เมื่อเกิดเหตุโกลาหล ขณะที่การปฐมพยาบาลเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่มีตำรวจอยู่ในที่เกิดเหตุเพื่อควบคุมฝูงชน เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันมีการประท้วงใหญ่ที่เขตกวางฮวามุน ทำให้ต้องส่งกำลังตำรวจไปรักษาการณ์ที่นั่น
อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นเพราะบรรดาร้านค้าในอิแทวอน และเจ้าหน้าที่เกาหลี ไม่ได้เตรียมการรับมือที่ดีพอต่อสถานการณ์ที่มีฝูงชนจำนวนมหาศาลมารวมตัวกัน
นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ ในย่านนั้น ได้ขัดขวางไม่ให้ผู้คนหนีออกมาจากจุดเกิดเหตุ แม้มีคนพยายามหนีตายเข้าไปในร้านค้าต่างๆ แต่ก็เข้าไปไม่ได้ เพราะเป็นช่วงเวลาปิดร้านแล้ว หรือบางคนก็ถูกการ์ดของร้านจับโยนกลับออกไป ตามที่สาวไทยรายหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ได้เล่าในคลิปที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ
เห็นข่าวเศร้าสลดที่เกาหลีใต้ ก็อดที่จมองย้อนกลับมาบ้านเราไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุด ก็เป็นเหตุไฟไหม้ที่ผับ “เมาเท่น บี” อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 13 ราย บาดเจ็บอีกเกือบ 40 ราย และทยอยเสียชีวิตมาเรื่อยๆอีก รวมเป็น 26 ราย โดยรายล่าสุดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยยังมีผู้บาดเจ็ยสาหัสที่หมอต้องพยายามยื้อชีวิตอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
ย้อนไปก่อนนั้น ก็เป็นเหตุไฟไหม้ “ผับ ซานติก้า” สถานบันเทิงชื่อดังย่านเอกมัย เมื่อคืนวันที่ 31 ธ.ค. 51 มีผู้เสียชีวิตถึง 67 ราย บาดเจ็บสาหัส 45 คน บาดเจ็บทั่วไปอีก 72 คน
ทั้งสองเหตุการณ์ มีปัจจัยที่ทำให้ผู้คนต้องสังเวยชีวิตจำนวนมาก คล้ายๆ กัน นั่นคือ ทางเข้าออกหรือทางหนีไฟคับแคบ ไม่เพียงพอสำหรับให้นักท่องเที่ยวหนีออกจากอาคารได้ทันยามเกิดเหตุฉุกเฉิน
ส่วนเหตุการณ์ที่ “อิแทวอน” ก็คล้ายๆกัน คือผู้คนจำนวนมาก ไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่อันตรายได้ เมือ่เกิดเหตุฉุกเฉิน เพียงแต่เป็นเหตุการณ์เกิดนอกอาคาร ส่วนเคสของ “ซานติก้า ผับ” และ “เมาเท่น บี” ในไทยนั้น เกิดภายในอาคาร
จากเหตุสลดที่อิแทวอน “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรอ งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนไว้น่าสนใจ ว่า ประเทศไทยควรจะถอดบทเรียนนี้ เพราะเราประสบปัญหาแบบนี้หลายครั้ง ถึงจะไม่ใหญ่เท่า แต่ก็มีปัญหา เช่น กรณีของไฟไหม้ผับ และคนมาเหยียบกันตายหน้าประตู ซึ่งเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลความปลอดภัยทั้งนั้น จึงต้องตั้งคำถามว่า คนเยอะขนาดนี้ รัฐบาลควรจะเตรียมการอย่างไร เพราะเหตุของการเหยียบกันตายเกิดจากการมารวมกลุ่มกันจำนวนมาก
ยิ่งเรามีประเพณีมีงานสำคัญที่หลังจากโควิด คนก็คงอยากจะไปเที่ยว เพราะมีความอัดอั้นกันมานานก็จะมารวมตัวกันมาก เพราะฉะนั้นทุกจังหวัด ทุกหน่วยงาน หากจะจัดงานต้องมีมาตรการรองรับ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ทั่วพื้นที่ ว่ามีการจัดงานลักษณะเดียวกันที่ไหนบ้าง เพื่อให้คนกระจายไปท่องเที่ยว รวมถึงต้องจัดสถานที่ให้เหมาะสมกับคนที่จะมาท่องเที่ยวด้วย ยกตัวอย่าง เช่น “ตรอกข้าวสาร” ใครๆ ก็อยากจะไปเที่ยว เพราะเป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกับ “อิแทวอน”
ความเห็นของ “ผู้การแต้ม” นับว่าตรงใจประชาชนทีเดียว ก็ได้แต่หวังว่า ลุงๆ ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง จะได้เอาไปแปลงเป็นคำสั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ ไม่ให้เหตุสลดแบบ “ฮัลโลวีน อิแทวอน” มาเกิดซ้ำรอยในประเทศไทยอีก
Source link
from World eNews Online https://ift.tt/aDRdsq7
via World enews
Labels: news, World eNews Online, worldnews
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home