Wednesday, November 9, 2022

เมื่อสมรภูมิยูเครนกลายเป็น สนามประลอง ‘สงครามโดรน’



สงครามยูเครนกลายเป็นการสร้างสมรภูมิสำหรับนวัตกรรมทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ล่าสุดที่มีพลังทำลายสูงกว่าทุกสงครามที่ผ่านมา

ที่เห็นได้ชัดคือปรากฏการณ์ Drone Warfare หรือ “สงครามโดรน” ได้เปิดตัวอย่างเต็มที่ 

เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนส่ง “โดรนสงคราม” หรือ “โดรนกามิกาเซ่” มาปะทะกันอย่างดุเดือด

ล่าสุด ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนประกาศจะระดมทุนครั้งใหญ่เพื่อสร้าง “กองกำลังโดรนทางทะเล” เพื่อปกป้องน่านน้ำของตนเองอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

นั่นหมายถึงการก่อตั้ง “กองทัพโดรน” ที่อาจจะมีทั้งที่อยู่บนฟ้าและอยู่ใต้น้ำพร้อมๆ กันไปด้วย

เป็นการสร้างกองกำลังแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากวิธีการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

และเป็นวิวัฒนาการของการใช้โดรนที่ก้าวไปไกลกว่าที่เคยเห็นในสมรภูมิตะวันออกกลาง, ซีเรีย หรืออัฟกานิสถานก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำไป

มองอีกนัยหนึ่ง สมรภูมิสงครามยูเครนกลายเป็น “โชว์รูม” สำหรับการสำแดงเทคโนโลยีโดรนทางการทหาร

อเมริกาส่งโดรน Phoenix Ghost มาให้ยูเครน

อิหร่านส่ง Shahed-136 มาให้รัสเซีย ซึ่งส่งมาถล่มเป้าหมายในยูเครนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเหนือน่านฟ้าเมืองหลวงกรุงเคียฟ

ตุรกีมี Bayraktar TB2 ที่ยูเครนนำมาใช้ในการต่อสู้กับรัสเซียในหลายแนวรบ

แม้ว่ารัฐบาลอิหร่านจะเคยปฏิเสธว่าไม่เคยส่งโดรนมาให้รัสเซีย…แต่ล่าสุดก็ยอมรับว่าได้ส่งมาให้มอสโกจริง

เพียงแต่ว่าเป็นการส่งมอบก่อนที่สงครามยูเครนจะระเบิดขึ้น

และส่งมอบเป็นจำนวนจำกัดเท่านั้น

โดนประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนโต้ว่าการพูดเช่นนั้นเป็นเรื่อง “โกหก” เพราะทหารยูเครนสามารถสอยโดรนอิหร่านลงมาจากท้องฟ้าได้วันละกว่า 10 ตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัสเซียกำลังใช้ “โดรนสงคราม” ที่ผลิตในอิหร่านอย่างกว้างขวางในสงครามยูเครน

ตอกย้ำถึงการแพร่กระจายของเทคโนโลยีที่ครั้งหนึ่งเคยมีเพียงกองทัพของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้นที่มีใช้

และที่ผ่านมาเป็นการใช้ของฝ่ายที่บุกรุกประเทศอื่น โดยที่ฝ่ายตั้งรับไม่มี “เครื่องบินทิ้งระเบิดไร้คนขับ” เช่นนี้มาต่อสู้ด้วยแต่อย่างใด

ความจริง เทคโนโลยีโดรนทางการทหารมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา

โดยเฉพาะหลังจากที่อิสราเอลเริ่มใช้โดรนเพื่อการลาดตระเวนหลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1973

หลังจากนั้น วิศวกรจากประเทศต่างๆ มุ่งหน้าไปศึกษาข้อมูลและเทคนิคการสร้างโดรนที่สหรัฐอเมริกา

โดยเน้นการสร้างอุปกรณ์ที่บินได้แบบไร้คนขับซึ่งมีระบบควบคุมที่ล้ำสมัยและเครื่องยนต์ขนาดกะทัดรัดทำให้สามารถพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ได้มากมาย

ดูเหมือนการสู้รบด้วยโดรนจะเริ่มต้นเมื่ออเมริกาส่งเจ้า “เครื่องบินทิ้งระเบิดไร้คนขับ” ติดอาวุธไปทำศึกในอัฟกานิสถานและอิรัก

ต่อมาในปี 2011 อิหร่านได้เลียนแบบโดรน RQ-170 ของสหรัฐฯ และนำไปพัฒนาด้วยการคัดลอกแบบเพื่อผลิตอาวุธลอยฟ้าราคาถูกเช่นนี้เป็นจำนวนมาก

อิสราเอลในฐานะเป็นคู่แค้นของอิหร่านก็เริ่มตอบโต้เวอร์ชันอิหร่านในซีเรียในปี 2018

จากนั้นเป็นต้นมา หลายประเทศก็เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้กันอย่างคึกคัก

จนกลายเป็นอาวุธทางเลือกในสงครามหลายแห่ง…และล่าสุดก็คือสมรภูมิยูเครน

มาถึงวันนี้ ความขัดแย้งในยูเครนได้กลายเป็น “ห้องแสดงสินค้าพร้อมขาย” และ “สนามทดลอง” ที่แข่งกันทางด้านเทคโนโลยีโดรนล่าสุดจากประเทศต่างๆ

นักวิเคราะห์ทางทหารบอกว่า รัสเซียใช้โดรนของอิหร่าน รวมถึงซีรีส์ Shahed ซึ่งสามารถบรรทุกขีปนาวุธขนาดเล็กเพื่อไปถล่มฝ่ายตรงกันข้ามได้

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้จัดหาโดรนของตัวเองให้กับกองกำลังยูเครนอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน

คำถามที่น่าสนใจก็คือ อิหร่านสามารถผลิตโดรนในปริมาณมากได้อย่างไรในขณะที่อยู่ภายใต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดจากโลกตะวันตกอันสืบเนื่องมาจากการที่อิหร่านพัฒนานิวเคลียร์

คำตอบอาจจะอยู่ที่ว่าอิหร่านมีวิธีการที่จะหลบหลีกการตรวจสอบได้

อีกทั้งก็ยังสามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เช่น เครื่องยนต์จากรุ่นพลเรือนที่หาได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องอาศัยชิ้นส่วนจากอุปกรณ์ทางทหารเหมือนตอนต้นๆ

ที่มีเหตุผลอ้างอิงเช่นนี้เพราะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีการพบส่วนประกอบของญี่ปุ่น รวมถึงกล้องและสายเคเบิลใน “โดรนสอดแนม” Russian Orlan-10 ที่กองทัพยูเครนยึดได้

ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่บริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้

เพราะเท่ากับว่าอาจจะมีวิธีการซื้อชิ้นส่วนอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางที่หลงหูหลงตาของฝ่ายประกาศคว่ำบาตรได้

มีการตั้งข้อสงสัยว่าอิหร่านอาจจะจัดหาวัสดุที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกคว่ำบาตรและหายากสำหรับอาวุธทำลายล้างสูงจากตลาดมืดระหว่างประเทศ

ด้วยวิธีนี้เอง อิหร่านก็อาจเสาะแสวงหาวัสดุเพื่อการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ และขีปนาวุธผ่านตลาดใต้ดินระหว่างประเทศ

หรือไม่ก็ใช้ตลาดซื้อขายชิ้นส่วนอาวุธในเวทีสากลภายใต้เกราะกำบังทางการค้าอย่างชาญฉลาด

อาจจะอ้างว่าเป็นชิ้นส่วนพลเรือน แต่ที่สามารถแปลงไปใช้เพื่อการทหารได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

คำถามของนักวิเคราะห์ทางทหารคือ  โดรนของอิหร่านจะยังคงสร้างความเสียหายในยูเครนหรือไม่

คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้บอกว่าทั้งนั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

หนึ่งคือระยะเวลาความคงทนของวัสดุสิ้นเปลือง ซึ่งก็ไม่ต่างจากอาวุธของตะวันตกที่ส่งไปยังยูเครนนั่นแหละ

อิหร่านยอมส่งโดรนให้รัสเซียทั้งๆ ที่เสี่ยงกับการถูกจับได้ก็เพราะใกล้ชิดกับรัสเซียซึ่งต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของอิหร่านที่อ่อนไหวกับอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย

ประเด็นต่อมาคือการใช้อาวุธอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด

การจะใช้โดรนถล่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำต้องใช้ความชำนาญเกี่ยวกับระบบนำทางของโดรน

ข่าวบางกระแสบอกว่าประเด็นนี้กลายเป็น “ความท้าทาย” สำหรับกองทหารรัสเซียพอสมควร

อีกทั้งหากฝ่ายตรงกันข้ามมีระบบต่อต้านอากาศยานที่มีประสิทธิภาพสูง ก็อาจจะสอยโดรนลงจากท้องฟ้าได้ไม่ยากเช่นกัน

ยูเครนจึงได้เรียกร้องสหรัฐฯ และนาโตช่วยจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน

ไม่ต้องแปลกใจหากอิสราเอลก็ได้รับการร้องขอจากยูเครนในเรื่องนี้เช่นกัน

แม้ว่าอิสราเอลจะประกาศว่าไม่สามารถจะช่วยยูเครนในการสร้าง Iron Dome ซึ่งเป็นระบบต่อต้านขีปนาวุธอย่างได้ผล แต่ก็มีข่าวว่าประเทศนั้นอาจส่งครูด้านทหารมาช่วยฝึกปรือให้ทหารยูเครนมีความคล่องตัวในเรื่องการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์หลายๆ ประเภท

จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นสมรภูมิยูเครนกลายเป็นเวทีแห่งการประลองกำลังด้าน “โดรนสงคราม” อย่างร้อนแรงมากยิ่งขึ้นทุกวัน.

The post เมื่อสมรภูมิยูเครนกลายเป็น สนามประลอง ‘สงครามโดรน’ appeared first on .

ซื้อของออนไลน์ที่ shopee ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆ShopeeMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.


Source link

from World eNews Online https://ift.tt/U19kZRE
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home