Tuesday, December 20, 2022

ย้ายพรรค-ขายตัว?



คิดว่าแตกต่างกันมั้ยครับ?

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

กับประชาธิปไตยตามแบบฉบับของประเทศไทย

อย่างแรกดูจะเป็นการล้อเลียน เสียดสี มากกว่าที่จะพูดถึงระบอบประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ในประเทศไทยอย่างจริงจังอย่างข้อหลัง

หลายประเทศทั่วโลกปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป ไม่มีใครเหมือนใครร้อยเปอร์เซ็นต์

ไทยก็เช่นกันครับ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีอังกฤษ เป็นต้นแบบ แต่ก็มีความพยายาม จะให้ไทยเหมือนอังกฤษทุกอย่าง 

หรือข้ามไปเหมือนระบอบประธานาธิบดี เช่น อเมริกา  ฝรั่งเศส

ขณะเดียวกันโดยบริบทของสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ที่แตกต่างกันซึ่งเป็นตัวกำหนดให้ระบอบการปกครองเดียวกันแต่แตกต่างในรายละเอียด ก็มักถูกมองข้ามไปเสมอ

ใกล้ฤดูกาลเลือกตั้ง สิ่งที่ปรากฏควบคู่กันในขณะนี้คือการย้ายพรรคของ ส.ส.  

ที่ชวนพูดคุยกันเรื่องนี้เพราะ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ส.ส.ย้ายพรรคว่า…

…ใครก็ตามที่ให้ความเห็นว่า การย้ายพรรคของ ส.ส. เป็นเรื่องธรรมดา ก็เหมือนกับนักฟุตบอลสโมสร ที่ย้ายทีมกันไปมา

จะว่าไปก็เท่ากับเป็นการยอมรับความจริงนะ

เพราะนักฟุตบอลเขาย้ายทีมก็เพราะถูกซื้อตัวจากทีมเดิมไปอยู่ทีมใหม่

ถ้าการย้ายพรรคของ ส.ส.เหมือนกับการย้ายทีมของนักฟุตบอล ก็เท่ากับยอมรับว่า ส.ส.ที่ย้ายพรรค ก็เพราะถูกซื้อตัวจากพรรคหนึ่งไปอีกพรรคหนึ่งใช่หรือไม่…

เอาเข้าจริง เรื่อง ส.ส.ย้ายพรรค มองได้หลายมิติมาก ขึ้นกับบริบทของการเมือง ณ ช่วงเวลานั้นๆ

การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง มีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๑๗

ครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาล

การกำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองเกิดขึ้นครั้งแรก เป็นการนำบทเรียนทางการเมืองก่อนหน้านั้นที่ ส.ส.ไม่สังกัดพรรครวมตัวกัน เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุม ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรได้  จนเกิดความปั่นป่วนทางการเมืองและรัฐบาลขาดเสถียรภาพ

ในที่สุดเป็นข้ออ้างให้เกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง!

ดูกรณีผลการเลือกตั้งปี ๒๕๑๒ เป็นตัวอย่าง พรรคสหประชาไทย ที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค  และพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ได้รับเลือกมาเป็นที่หนึ่ง โดยได้ ส.ส.ทั้งหมด ๗๖ คน ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี หม่อมราชวงศ์เสนีย์  ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.ทั้งหมด ๕๗ คน พรรคแนวประชาธิปไตย ๗ คน พรรคแนวร่วมเศรษฐกร ๔ คน  พรรคประชาชน ๒ คน พรรคสัมมาชีพ-ช่วยชาวนา และพรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคละ ๑ คน

แต่มี ส.ส.ไม่สังกัดพรรคมากถึง ๗๑  คน

เกือบเท่ากับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล!

แนวคิดการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และการขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องขาดจากการเป็น ส.ส.มาใช้ ซึ่งเป็นการรับแนวคิดจากรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ พ.ศ.๒๔๙๑ มาใช้

ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับจนถึงปี ๒๕๓๑ หลังจากนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาเกาหลีใต้ได้ยกเลิกบทบัญญัติการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง

โดยแทนที่ด้วยหลักการไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใดๆ ของผู้แทนปวงชน

รัฐธรรมนูญหลายประเทศทั่วโลก ไม่บัญญัติให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค

อาทิ อัฟกานิสถาน แอลเบเนีย แอลจีเรีย แองโกลา อาร์เจนตินา อาร์เมเนีย ออสเตรเลีย ออสเตรีย อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ เบลเยียม แคนาดา เช็ก เดนมาร์ก ฝรั่งเศส  ฟินแลนด์ กรีซ ฮาวาย ฮ่องกง ฮังการี ไอซ์แลนด์ อินเดีย  ไอร์แลนด์ อิตาลี มาเลเซีย ลักเซมเบิร์ก เม็กซิโก เนปาล  โปแลนด์ สเปน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์  อังกฤษ เยอรมนี

ฉะนั้นจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญแบบฉบับของไทย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพราะบริบทการเมืองไทยแตกต่างจากประเทศอื่น

แต่เราก็เจอปัญหาหลักๆ

การเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ จนต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ

ส.ส.ตั้งกลุ่มต่อรองผลประโยชน์ โดยเฉพาะการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี

อีกปัญหาคือ พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงข้างมากเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว เช่นกรณีไทยรักไทย ทำให้กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจไม่สมบูรณ์

ในที่สุดอาจจะกลายเป็น “เผด็จการรัฐสภา”

แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร?

การย้ายพรรคของ ส.ส.เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้

ยุคไหนที่ ส.ส.พากันย้ายไปอยู่ในพรรคการเมืองเดียวมากเกินไป เช่นกรณีหลังการเลือกตั้งปี ๒๕๔๘ จะเกิดเผด็จการรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเหลิงอำนาจ เพราะระบบตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญพังพินาศ

เมื่อย้อนกลับไปดูการเมืองก่อนมีรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค สิ่งที่เจอคือ ส.ส.ตั้งก๊วนเรียกผลประโยชน์

บางคนขายตัวเพื่อโหวตในสภา

ฉะนั้นคำถามคือ เรามีปัญหาที่ “คน” หรือ “ระบบ” 

เราสามารถนำหลักการ “ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใดๆ ของผู้แทนปวงชน” มาใช้กับนักการเมืองไทยได้หรือไม่?

มองไปก็เหมือนงูกินหาง

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๔ บัญญัติว่า …สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

แต่ ส.ส.กลับโหวตสวนมติพรรคการเมืองที่สังกัดไม่ได้ มีความผิดถึงขั้นไล่ออก

หลายครั้ง “มติพรรค” กับ “ใบสั่ง” แทบจะแยกกันไม่ออก  

ฉะนั้นพื้นฐานปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ ระบบ ระเบียบ กฎหมาย

อยู่ที่คุณภาพของคนล้วนๆ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เราเห็นในวันนี้คือ เรื่อง ส.ส.ย้ายพรรค

เป็นมุมมองเดียวกับที่มองเห็น ส.ส.ไม่สังกัดพรรคก่อนรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗

ไม่ว่าจะสังกัดหรือไม่สังกัดพรรค ก็ไม่อาจแก้ปัญหา ส.ส.ขายตัวได้

ก็อาจไม่แฟร์สำหรับ ส.ส.ที่ย้ายพรรคเพื่ออุดมการณ์  เพียงแต่ ส.ส.ที่ย้ายพรรคเพราะ “อุดมการณ์” นั้น มีน้อยเต็มทน

มันคือความจริงที่แสนเจ็บปวด.                       

The post ย้ายพรรค-ขายตัว? appeared first on .

ซื้อของออนไลน์ที่ shopee ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆ShopeeMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.


Source link

from World eNews Online https://ift.tt/KC1Y8Ne
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home