Wednesday, February 15, 2023

ส.ส.พปชร. จี้ “บิ๊กตู่” รับผิดชอบหากปชช.เดือดร้อนเลื่อนบังคับใช้มาตราหัวใจของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ



“อาดิลัน” ชี้ “ประยุทธ์” ต้องรับผิดชอบ หากประชาชนเดือดร้อนจากการเลื่อนบังคับใช้มาตราหัวใจของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ขอทบทวนเพราะเป็นกฏหมายที่คุ้มครองคนในชายแดนใต้

วันนี้ (15 ก.พ. 66) นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ยะลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว The Reporters ที่อาคารรัฐสภา หลังจากที่เมื่อวานนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเลื่อนบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เฉพาะมาตรา 22-25

นายอาดิลัน กล่าวว่า หัวใจของกฎหมายฉบับนี้คือตั้งแต่มาตรา 22-25 การขอขยายเวลาการบังคับใช้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ผ่านมา จึงอยากให้ดูในรายละเอียดของแต่ละมาตรา

มาตรา 22 มีเงื่อนไขว่าต้องบันทึกภาพและเสียงตลอดระยะเวลาในการควบคุมตัวจนกระทั่งส่งให้พนักงานสอบสวน แต่มีข้อยกเว้นคือถ้าหากมีเหตุบันทึกไม่ได้ ก็ทำการบันทึกถึงเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถบันทึกได้ แต่ความน่าสนใจของมาตรานี้คือวรรคสอง ว่า หลังจากควบคุมตัวแล้ว ผู้ควบคุมตัวต้องแจ้งต่อนายอำเภอหรืออัยการ ซึ่งเงื่อนไขนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณ ใช้เพียงวิทยุและโทรศัพท์ก็สามารถทำได้ มาตรานี้คุ้มครองประชาชน เมื่อไหร่ที่มีการควบคุมตัวไว้ ญาติจะสามารถบอกกล่าวหรือตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกในการตรวจสอบ จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะขอขยายเวลา

ทั้งนี้ ยังมีเรื่องอื่นที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ คือมาตราที่ว่าด้วยการบันทึกข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว เรื่องของการให้สิทธิแก่ผู้ที่ไปเรียกร้องซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ญาติ เพื่อขอทราบว่ามีการควบคุมตัวที่ไหนอย่างไร และมาตรา 25 ที่ว่าด้วยเรื่องการปกปิด ไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูล หากการควบคุมตัวของนั้นอยู่ในการรับรู้ของศาล

นายอาดิลัน กล่าวว่า เรื่องงบประมาณที่บอกว่าต้องใช้ 3 พันกว่าล้านในการซื้อเครื่องมือ ขอถามว่าปัจจุบันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร้องของบกลางจากรัฐบาลหรือยัง เพราะตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 65 ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันนี้ สำนักงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความเตรียมพร้อมแล้ว แต่สำนักงานที่ไม่พร้อมคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงสำนักงานเดียว

นายอาดิลัน จึงแถลงข่าวเพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการเลื่อน พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบมาโดยตลอด และกฎหมายฉบับนี้ยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโดยสุจริตด้วย

สุดท้ายนี้ นายอาดิลัน กล่าวว่า ใน พ.ร.ก. กำหนดว่าจะขยายเวลาตั้งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ไปจนถึง วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ดังนั้นในช่วงเวลาที่ขยายเวลากระบวนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ก็จะเป็นแบบเดิมและจะได้รับคำร้องเรียนจากประชาชนแบบเดิมคือ ไม่ทราบว่าใครควบคุมตัว และหากมีการร้องเรียนดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบที่ขยายการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไป

ซื้อของออนไลน์ที่ shopee ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆ShopeeMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.


Source link

from World eNews Online https://ift.tt/YPKwqLa
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home