บันทึกหน้า 4
Www.thaipost.net ไทยโพสต์ ขับเคลื่อน “อิสรภาพแห่งความคิด” @ ประชาชื่น 46 แล้วก็ถึงเวลายุบสภา ในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ตรงกับวันความสุขสากล ในทางการเมือง นายกฯ ถูกแซะได้คืนความสุขให้เฉพาะนักการเมืองไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามกรอบ 30 วันได้ทัน เพื่อมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และอาจทำให้เกิดการย้ายพรรคกันหรือการดูดครั้งสุดท้ายอีกหรือไม่ คงต้องติดตาม เพราะสมมุติว่าเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ก็ย้ายพรรคได้ถึง 14 เมษายน ส่วนวันที่ 21 มีนาคมนี้ ไม่มีอะไรทางการเมืองนอกจากวันเกิด “บิ๊กตู่” อายุครบ 69 ปี
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด อ.วิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ ได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับทราบข้อปฏิบัติราชการภายหลังการยุบสภาที่ทำเนียบฯ โดยมีรายงานไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่ กกต.วางไว้คร่าวๆ ดังนี้ เมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว คาดว่า 21 มีนาคม
กกต.จะประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง มีความเป็นไปได้ว่าจะกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้ง เปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 3-7 เมษายน จะรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน บริเวณสถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนด
และเริ่มรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงส่งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ในวันที่ 4 เมษายน เนื่องจากการรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจะต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีผู้สมัครในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ในส่วนของบรรดาเสนาบดีต่างๆ ก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นรักษาการ อำนาจต่างๆ ก็ลดลง เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่ส่วนใหญ่การใช้งบประมาณ โยกย้ายข้าราชการ ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต.
๐ ต่อเนื่องด้วยทัวร์ลงนิด้าโพลเที่ยวล่าสุด โดยผลที่ออกมามีการตั้งข้อสังเกต หลังพบอะไรไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง โดยข้อมูลระบุว่าการสนับสนุนจากประชาชนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า “อุ๊งอิ๊ง” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย 38.20% นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล 15.75% พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ 15.65% และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 1.55% ขณะที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ติดอันดับใดๆ ของโพล
ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคเพื่อไทย 49.75% พรรคก้าวไกล 17.40% พรรครวมไทยสร้างชาติ 11.75% พรรคประชาธิปัตย์ 5.40%พรรคไทยสร้างไทย 2.95% พรรคภูมิใจไทย 2.70% พรรคเสรีรวมไทย 2.60% ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ตัดสินใจ 2.35% และพรรคพลังประชารัฐรั้งท้าย 2.15%
สิ่งที่น่าแปลก ทำไมคะแนนทางฝั่งพี่น้อง 2 ป. คือ พล.อ.ประวิตร ไม่มีชื่อติดโพลนี้ ทั้งที่มีบ้านใหญ่อยู่ในสังกัดอยู่พอสมควร ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ในความเป็นจริงพรรค รทสช.จะได้ ส.ส.ถึง 25 คนหรือไม่ ส่วน ภท. โพลในแบบแบ่งเขต 2.7% ก็เท่ากับมี ส.ส. 11 คน เท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะพื้นที่บุรีรัมย์จังหวัดเดียว พื้นที่ของนายเนวิน ชิดชอบ เจ้าของพื้นที่เดิม น่าจะได้ ส.ส.ถึง 10 คนแล้ว ขณะที่จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่ของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ คาดว่าจะได้ ส.ส. 2 คน ดังนั้น อย่างน้อย 2 จังหวัดนี้ก็น่าจะได้ ส.ส.ถึง 12 คนแล้ว นี่ยังไม่นับพื้นที่เป้าหมายอย่างพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง กาญจนบุรี ระนอง สตูล ฯลฯ
โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผอ.นิด้าโพล ออกมาชี้แจงว่า โพลที่ถามนั้นเป็นเรื่องของกระแส และเป็นเพียงปัจจัย 1 ใน 4 ที่จะชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นหากพรรคการเมืองสามารถผลักดันปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือ ประกอบด้วย นโยบาย, ตัวบุคคล, ทรัพยากรเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้สำเร็จ ก็จะชนะเลือกตั้งได้
ปิดท้ายด้วย แม้กระแส “อุ๊งอิ๊ง” จะมาแรง แต่คำถามคือ แคนดิเดตนายกฯ อีกคนอย่าง “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน กระแสกลับไม่มา และจะช่วยอะไรพรรคเพื่อไทยภายใต้ระบอบทักษิณ ต้อน ส.ส.เข้าคอกได้หรือไม่ แต่ที่เป็นอุปสรรคมากกว่า ถึงเวลาพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และจะส่งลูกสาวนายใหญ่ชิงนายกฯ จะทำอย่างไร เพราะถูกตั้งแง่โดย ส.ว. ที่มีสิทธิ์เลือกผู้นำประเทศ ดังที่ “ประพันธ์ คูณมี” วุฒิสภา ที่ส่งสัญญาณต้าน “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯ สภาสูงลั่นไม่เอาคนไม่มีวุฒิภาวะ มีพ่อคอยไขลานมาเป็นผู้นำประเทศ ลั่นต่อให้เพื่อไทยได้เสียงมาเป็นสิบล้านก็ไม่สน ถือเป็นการไม่ให้เกียรติประเทศ-ประชาชน หรือใครอยากอ่านฉบับเต็มได้อีกครั้ง https://www.thaipost.net/politics-news/344412/ จะเข้าใจหัวอกวุฒิสภา.
พระราม9
The post บันทึกหน้า 4 appeared first on .
Source link
from World eNews Online https://ift.tt/Pos3pZb
via World enews
Labels: news, World eNews Online, worldnews
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home