Friday, May 5, 2023

คลื่นแรงจากทะเลจีนใต้ กระเพื่อมมาถึงวอชิงตัน



ประเทศในอาเซียนต้องพยายามรักษา “ระยะห่างอันเหมาะควร” กับมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ อย่างระมัดระวังมากขึ้นทุกที

ที่น่าจะเด่นชัดที่สุดในระยะหลังคือ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์กับเวียดนาม

ผู้นำของอาเซียนเหล่านี้ไปเยือนปักกิ่งเสร็จก็ต้องขอนัดหมายไปเยี่ยมวอชิงตันด้วย

เพราะหากถูกดึงเข้าไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลึกเกินไปก็จะกลายเป็น “ติ่ง” ของฝ่ายนั้น

การเป็น “ติ่ง” นั้นอันตราย เพราะอาจจะถูก “เฉือน” ออกไปเมื่อไหร่ก็ได้

ไม่ต่างกับ “ไส้ติ่ง” ที่กลายเป็น “ส่วนเกิน” ที่ต้องตัดทิ้ง โดยเฉพาะหากไม่เป็นที่ต้องการหรือเกิด “เน่า” ในตัวเองจนเป็นอันตรายกับสุขภาพของตนเอง

ล่าสุด ต้นสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เปิดทำเนียบขาวต้อนรับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์

จังหวะใกล้กับกรณี “หวิดปะทะ” ระหว่างเรือของจีนกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้

การนัดหมายมาเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่คงจะกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

ไม่ได้จงใจจะให้ใกล้กับเหตุเผชิญหน้ากับจีนในทะเลจีนใต้

แต่เป็น “ความบังเอิญ” ที่หนีไม่พ้นว่าจะต้องถูกตีความประเด็นความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์แน่นอน

เพราะเมื่อเดือนมกราคม มาร์กอส จูเนียร์ ไปจับมือกับสี จิ้นผิง ผู้นำจีนที่ปักกิ่งอย่างสนิทสนม

จีนก็ต้องการจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศนี้ เพราะประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนก่อนคือ ดูเตอร์เต ได้ขยับหนีจากสหรัฐฯ หันมาแสดงความใกล้ชิดกับจีนอย่างเห็นได้ชัด

แต่มาร์กอสปรับยุทธศาสตร์ของชาติด้วยการถ่วงดุลแห่งอำนาจระหว่างสองชาติ…ไปปักกิ่งก็ต้องแวะวอชิงตัน

ไบเดนถือโอกาสที่มาร์กอส จูเนียร์ มาถึงทำเนียบขาวประกาศว่าจะมีการหารือประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

เพราะตอกย้ำว่าฟิลิปปินส์พึ่งพาสหรัฐฯ ในการจะทำให้จีนต้องเกรงใจตัวเองมากขึ้น

โดยเฉพาะหลังจากมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นจากกรณีการกระทบกระทั่งระหว่างเรือของกองทัพเรือจีนกับเรือฟิลิปปินส์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

ไบเดนย้ำกับมาร์กอส จูเนียร์ ว่า “สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในพันธกรณีอันแข็งแกร่งดุจเหล็กกล้าที่จะช่วยปกป้องฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึงกรณีทะเลจีนใต้ และเราก็จะเดินหน้าสนับสนุนเป้าหมายการปรับปรุงกองทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัยขึ้นด้วย”

ผู้นำจีนจะใช้คำว่าความสัมพันธ์ “มั่นคงดั่งภูผา”

สหรัฐฯ เรียกมันว่า “แข็งแกร่งดุจเหล็กกล้า”

ไม่รู้ว่าใครลอกเลียนแบบใคร

ความจริง หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์มีความผูกพันด้านการทหารที่แน่นแฟ้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วง “สงครามเย็น”

โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาร่วมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ปี 1951 หรือที่เรียกว่า “1951 Mutual Defense Treaty”

ซึ่งระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าสหรัฐฯ มีจะมาช่วยประเทศคู่สัญญาในกรณีที่กองทัพฟิลิปปินส์ถูกคุกคามด้วยอาวุธ

ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นพันธกรณีของอเมริกาด้านการทหารที่หนักแน่นกว่าที่ระบุไว้ในกฎหมาย Taiwan Relations Act กับไต้หวันด้วยซ้ำ

มาร์กอส จูเนียร์ ถือว่าเป็นผู้นำฟิลิปปินส์คนแรกในรอบกว่า 10 ปีที่มาเยือนวอชิงตันอย่างเป็นทางการ

เขาย้ำถึงความสำคัญของสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรทางสนธิสัญญาเพียงรายเดียวในภูมิภาคทะเลจีนใต้ที่ “ถือได้ว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในโลกขณะนี้”

เขาย้ำว่าเป็นเรื่องปกติที่ฟิลิปปินส์จะหันหาหุ้นส่วนสนธิสัญญารายเดียวในโลกที่จะมาช่วยเสริมสร้างและปรับแต่งความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน

และเสริมว่าทั้งสองประเทศมีบทบาทร่วมกันเมื่อต้องเผชิญกับความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคจีนใต้ เอเชียแปซิฟิก และอินโด-แปซิฟิก

ความชัดแจ้งแห่งการกระชับความร่วมมือทางทหารของสองประเทศนี้ยืนยันได้จากการที่สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์เพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมา

ตามมาด้วยการซ้อมรบทางอากาศรอบใหม่ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1990

ต้นปีนี้ จีนออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผยก็เมื่อฟิลิปปินส์ตกลงให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงฐานทัพอีก 4 แห่งของฟิลิปปินส์

เป็นจังหวะเดียวกับที่อเมริกาพยายามสกัดการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนรอบไต้หวันและในทะเลจีนใต้

นักสังเกตการณ์ย่อมมองว่าสหรัฐฯ เห็นพันธมิตรเก่าแก่อย่างฟิลิปปินส์เป็นเสมือนกุญแจสำคัญในการต้านการรุกรานไต้หวันของจีน

ถึงขั้นมีการมองว่าวอชิงตันอาจจะมองว่าฟิลิปปินส์เป็นที่ตั้งฐานยิงจรวด ขีปนาวุธและระบบปืนใหญ่       

หากเกิดกรณีที่จีนแผ่นดินใหญ่ตัดสินใจยกพลขึ้นบกเพื่อยึดไต้หวันอย่างที่นักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ได้วางฉากทัศน์เอาไว้

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์เริ่มมีรอยร้าวมากขึ้นในทะเลจีนใต้ เพราะกิจกรรมทางทะเลของทั้งสองประเทศใกล้กับจุดที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์

ฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าปักกิ่งได้ขับไล่เรือของกองทัพ เรือลาดตระเวนชายฝั่ง และเรือประมงของฟิลิปปินส์ ออกจากบริเวณน่านน้ำใกล้กับแนวชายฝั่งหลายแห่งของฟิลิปปินส์ ซึ่งจีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน

ทุกครั้งที่เกิดเหตุเช่นนี้ มะนิลาก็จะส่งเสียงดังๆ ออกมาให้ได้ยินถึงปักกิ่ง

ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ได้ยื่นประท้วงทางการทูตต่อจีนไปแล้วไม่น้อยกว่า 200 ครั้ง

รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน

โดยที่ทางการฟิลิปปินส์ได้เชิญนักข่าวหลายสำนักข่าวขึ้นไปบนเรือลาดตระเวนของฟิลิปปินส์ บีอาร์พี มาลาปาสกัว (BRP Malapascua)

เรือลำนี้แล่นไปบริเวณสันทราย Second Thomas Shoal ขณะที่จะถูกเรือของจีนสกัด ห้ามแล่นต่อ เพราะจีนถือว่าเรือฟิลิปปินส์กำลังละเมิดน่านน้ำของตน

อเมริกาไม่รอช้า ออกข่าวเข้าข้างฟิลิปปินส์ทันที

โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่าเหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ “เป็นการย้ำเตือนถึงการละเมิดและคุกคามของจีนต่อเรือฟิลิปปินส์ที่ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนตามปกติในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตัวเอง…”

ในแถลงการณ์นั้น สหรัฐฯ ขอให้จีน “หลีกเลี่ยงการยั่วยุและการกระทำที่สุ่มเสี่ยงเช่นนั้น”

แน่นอนว่าจีนย่อมจะมองว่าการกระทำของสหรัฐฯ เช่นนี้เป็นการเข้ามายุ่มย่ามกิจการของประเทศในแถบนี้

ปักกิ่งย้ำเสมอว่าปัญหาของเอเชียต้องแก้ไขโดยประเทศในเอเชีย

ในความเห็นของจีน สหรัฐฯ เป็น “คนนอก” ไม่ควรจะเข้ามาก้าวก่ายเรื่องที่เขาตกลงกันเองได้

แต่ดูเหมือนฟิลิปปินส์จะเห็นว่าลำพังตนเองจะต่อรองกับจีนคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย

การที่มีเสียงดังสนับสนุนจากวอชิงตันก็อาจจะช่วยทำให้จีนต้องคิดหนักก่อนที่จะกระทำการใดๆ ที่จะทำให้ฟิลิปปินส์ต้องล่าถอยทุกครั้งที่เผชิญหน้ากันในทะเลจีนใต้

ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในย่านนี้จึงทวีความร้อนแรงขึ้นทุกขณะจริงๆ.

The post คลื่นแรงจากทะเลจีนใต้ กระเพื่อมมาถึงวอชิงตัน appeared first on .

ซื้อของออนไลน์ที่ shopee ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆ShopeeMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.


Source link

from World eNews Online https://ift.tt/cTJs7Ga
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home