Wednesday, November 1, 2023

อย่า ‘ดำน้ำ’ เรื่อง เรือดำน้ำจีนต่อเลย



ถึงวันนี้ ทุกอย่างเกี่ยวกับ “เรือดำน้ำจีน” ก็ยังคลุมเครือ ไม่มีความคืบหน้าที่จะแจ้งกับสาธารณชนได้โดยที่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง

เดิมที นายกฯเศรษฐา ทวีสินบอกว่าไปเมืองจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมาจะได้พูดจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกับนายกฯหลี่ เฉียง แต่กลับมาถึงไทยก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนมากไปกว่าเดิม

คำอธิบายล่าสุดจากรัฐมนตรีกลาโหมสุทิน คลังแสงบอกว่าสัญญานี้เป็นแบบจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐ

จึงเป็นเหตุที่ไทยไม่สามารถยกเลิกสัญญาการจัดซื้อกับจีนได้ เพราะไม่ใช่เป็นการทำสัญญา แต่เป็นข้อตกลงการซื้อขายระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล หรือจีทูจี

โดยชี้แจงว่าหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถปฏิบัติข้อตกลงได้ ไม่ว่าฝ่ายใดผิด ก็สามารถขอเจรจาลดหย่อนผ่อนปรนได้ และข้อตกลงนี้เป็นการตกลงที่รัฐบาลเก่าทำเอาไว้

คุณสุทินอาจจะได้รับการบอกเล่าจากกองทัพในประเด็นนี้ จึงอธิบายว่า

“เรื่องของจีทูจี มีมิติของความร่วมมือหลายด้านที่ต้องคิดควบคู่ด้วย ถ้าคิดแบบขอคืนหรือยกเลิกสัญญา มันกระทบกระเทือนกับความร่วมมือด้านอื่นและความสัมพันธ์ด้วย”

เป็นที่มาของวลีทองที่ว่า

“เขาไม่ได้ผิดสัญญา เพียงแต่ไม่ได้ทำตามข้อตกลงเท่านั้น”

เป็นประโยคที่สร้างความสับสนเพิ่มเติมต่อประเด็นนี้เพิ่มขึ้นอีก

ครั้งเมื่อบอกว่าทางไทยเสนอว่าเมื่อขอเงินที่วางเอาไว้แล้วคืนไม่ได้ (อาจจะเพราะกลัวเสียไมตรีทางยุทธศาสตร์) ก็จะขอเปลี่ยนเป็นซื้อเรือฟรีเกตแทน

โดยจะเพิ่มเงินอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท

แต่พอนักข่าวซักถามเข้าจริง ๆ คุณสุทินก็บอกว่านั่นเป็นเพียงข้อเสนอของฝ่ายไทย ฝ่ายจีนยังไม่ได้บอกว่ามีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

เรื่องก็เลยคาราคาซังอยู่อย่างนี้

ขณะที่ยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะเดินต่ออย่างไร สื่อทางการจีนบางแห่งก็เริ่มจะวิเคราะห์ออกแนวที่ว่ามีนักการเมืองสาย “โปรตะวันตก” ที่เป็นฝ่ายค้านในสภาพยายามที่จะสกัดไม่ให้กองทัพไทยซื้อเรือดำน้ำจีน

เป็นการเปิดประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง

และหากรัฐบาลไทยไม่เร่งสร้างความชัดเจนในการต่อรองเจรจากับจีน ก็จะยิ่งทำให้มีการพยายามจะเบี่ยงเบนประเด็นนี้ไปเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างมหาอำนาจ

ที่จะผลักให้ไทยเข้าไปอยู่ตรงกลางของข้อพิพาทระหว่างสองยักษ์โดยไม่จำเป็น

คุณสุทินชี้แจงกับนักข่าวว่าข้อเสนอเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตนั้น กองทัพเรือได้เสนอมาที่กระทรวงกลาโหมว่า หากเรือดำน้ำไม่ได้เครื่องยนต์จากเยอรมนี กองทัพเรือได้มีการทบทวนเสนอแนวทางเป็นสองแนวทาง ได้แก่ หนึ่ง ขอเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต หรือสอง เปลี่ยนเป็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง

กระทรวงกลาโหมพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นเรือฟริเกต เพราะเมื่อเปรียบเทียบแล้วสามารถทดแทนเรือดำน้ำได้ โดยไม่ทำให้ศักยภาพของกองทัพลดด้อยลงไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำ

“ฟริเกตจะทดแทนได้ เพราะต่อสู้ได้ 3 มิติ สู้ทางอากาศได้ ผิวน้ำ ผิวดินได้ แล้วก็สู้ใต้น้ำได้ พูดง่าย ๆ ว่าเอาฟริเกตมาปราบเรือดำน้ำ” คุณสุทินบอก

คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในฐานะประธานกรรมาธิการทหารในสภาผู้แทนราษฎรได้พยายามเชิญตัวแทนจากกองทัพเรือมาชี้แจง

แต่ก็ได้รับจดหมายบอกกล่าวว่ากองทัพเรือยังอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูล ไม่พร้อมจะมาชี้แจงขณะนี้

คุณวิโรจน์ก็ได้แต่บอกว่าได้ฝากไปยังรัฐมนตรีสุทินว่าการต่อรองกับจีนต้องเน้นว่า “ไทยเราเป็นผู้เสียหาย เขาเป็นผู้ทำผิดสัญญา” จึงต้องพิจารณาในแง่ที่ว่าจะมีการชดเชยกันอย่างไร

บางคนบอกว่าไทยเราอาจจะไม่มีอำนาจต่อรองกับจีนถึงขั้นจะเรียกร้องการชดเชยก็ได้

ยิ่งคุณสุทินบอกว่านี่เป็นสัญญารัฐต่อรัฐ ไม่ใช่การซื้อขายธรรมดา ดังนั้นจะต้องในมิติความเป็นมิตรและความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ด้วย

นั่นแปลว่ารัฐบาลไทยจะไม่มีทีท่าขึงขังถึงขั้นขอให้จีนยอมรับว่าเป็นฝ่ายทำผิดสัญญา เพียงแค่จะเจรจาหาทางออกทำนองบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น

เพื่อไม่ให้เรือดำน้ำทำน้ำทะเลในย่านนี้ขุ่นว่างั้นเถอะ

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าการยกเลิกสัญญาเป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจต่อรองของไทยมีน้อยกว่าจีน

อาจารย์บอกกับรายการ “เจาะลึกทั่วไทย…” เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้นว่า

“ทางแลกเรือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะปัญหาถึงทางตัน เพียงแต่จะแลกกับเรืออะไร โอกาสที่จะได้คืนเงินคำตอบคือเป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจการต่อรองเราไม่ได้มากขนาดนั้น”

ส่วนเรือฟริเกตจีนจะเหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของกองทัพเรือไทยหรือไม่นั้น ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังไม่มีการชี้แจงจากทางการอีกเช่นกัน

นักวิเคราะห์บางคนที่ติดตามเรื่องอย่างนี้มาตลอดมีความเห็นว่าหากจะเอาเรือฟริเกตจากจีนก็อาจจะสวนทางกับแผนเดิมที่ กองทัพเรือที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะต่อเรือฟริเกตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมต่อเรือของไทย

จึงเกิดคำถามว่าถ้าซื้อเรือฟริเกตจากจีน จะทำให้อุตสาหกรรมต่อเรือของสูญเสียโอกาสที่สำคัญหรือไม่

รัฐบาลพยายามจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” ทางการเมืองที่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดให้กับสาธารณชนอย่างชัดเจนได้

แต่ยิ่งมีความคลุมเครือมากเท่าใด ก็ยิ่งจะสร้างความสงสัยคลางแคลงให้กับสาธารณชน

และยิ่งวันการต่อรองกับฝ่ายจีนก็จะยิ่งยากขึ้นเพราะเขาจะมองว่าเราไม่มีความชัดเจนในแนวทาง

จีนพูดเสมอว่าเป็นประเทศใหญ่ก็มีความรับผิดชอบที่ใหญ่ ดังนั้นการคบหากับประเทศเล็ก ๆ นั้นเขาจะไม่แสดงตนเป็นผู้รังแกคนอื่น

แต่จะตัดสินปัญหาในลักษณะที่ “วิน-วิน” อันจะเป็นประโยชน์ให้กับทั้งฝ่ายเสมอ

ดังนั้น ก่อนที่จะทำให้เรื่องเรือดำน้ำกลายเป็นเรื่องที่ไทยถูกจับเป็นตัวประกันของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เราก็ควรจะหาทางเจรจาหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

บนพื้นฐาน “วิน-วิน” ที่ต้องได้ประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

ยิ่งปล่อยนาน ปัญหายิ่งจะบานไปในทิศทางที่เราควบคุมไม่ได้!

The post อย่า ‘ดำน้ำ’ เรื่อง เรือดำน้ำจีนต่อเลย appeared first on .

ซื้อของออนไลน์ที่ Lazada ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆LazadaMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.

Source link

from World eNews Online https://ift.tt/vacfF4Y
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home