สภาไม่รักษาประโยชน์ชาติ อัปยศ ปชต.ไทย !?
เมืองไทย 360 องศา
เป็นธรรมเนียมเกือบทุกปี ที่บรรดาสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวของนักการเมือง และข้าราชการคนสำคัญที่จะตั้งฉายา และสะท้อนผลงานการทำงานของแต่ละคนในหน่วยงานนั้น ทั้งรัฐบาล รัฐสภา เป็นต้น
ปีนี้สำหรับสภาไทย ถูกระบุว่า “ไม่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน” ถือว่าเป็นความอัปยศและน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง
ทบทวนกันอีกครั้งโดยจะยกมาบางเรื่องบางตอนมาฉายภาพให้เห็นซ้ำ ซึ่งสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ให้ ฉายาสภาผู้แทนราษฎร : สภาอับปาง โดยเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชน และงานบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยวิธีการเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อให้หน่วยราชการได้มีอำนาจไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร แต่พบว่าเรือสภาลำนี้ ในรอบปี 2564 กลับประสบปัญหาสภาล่มอับปาง โดยเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา สมัยแรก และหนักข้อขึ้นตลอดเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม
ตามปกติปัญหาสภาล่มไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สภาชุดนี้กลับทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นความซ้ำซาก และไม่คิดที่จะอุดรูรั่วของเรือ เพื่อป้องกันปัญหา ทั้งที่ความจริงสภาล่มคือเรื่องใหญ่ เพราะนั่นหมายถึง งานราชการต่างๆ ที่รอให้สภาผ่านหยุดชะงักลง ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เพียงเพราะ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของ ส.ส. ประกอบกับตายใจว่าตนเองเป็นเสียงข้างมาก และพ้นจากภาวะเสียงปริ่มน้ำไปแล้ว จึงเข้าร่วมประชุมสภาน้อย
ขณะเดียวกัน ส.ส.ฝ่ายค้าน มัวแต่จ้องจะเล่นเกมการเมือง เมื่อเห็นว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่น้อย จะขอนับองค์ประชุมทันที และพร้อมใจไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทั้งที่อยู่ร่วมพิจารณาเรื่องต่างๆ ในที่ประชุมสภา ฉะนั้น การที่สภาอับปางบ่อยกว่าเรือล่ม จึงเป็นการสะท้อนว่า ส.ส.ทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
นอกจากนี้ ก็มีฉายาวุฒิสภา : ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.) สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ถูกมองว่า คอยทำหน้าที่ปกป้องเฝ้ารักษามรดกที่เป็นโครงสร้าง และกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างเหนียวแน่น
และที่น่าสนใจ ก็คือ มีการหยิบยกเป็นเหตุการณ์เด่นแห่งปี : แผนกบฏการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 6 รัฐมนตรี แต่ไฮไลต์กลับอยู่ที่นอกห้องประชุม เมื่อมีรายงานข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยนั้น ยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินสายล็อบบี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ให้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความลับนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน กลายเป็นข่าวใหญ่โต ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ลูกพรรคเดินเกมล็อบบี้ ส.ส.ในพรรคของตัวเอง เพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์นี้นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างนายกฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส นายกฯ มอง ร.อ.ธรรมนัส เป็นอากาศธาตุ อีกทั้งหลังเหตุการณ์นั้นไม่นาน มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปลด ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ จนถึงทุกวันนี้ความรู้สึกกินแหนงแคลงใจก็ยังคงอยู่
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงคุณภาพของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ว่าด้อยกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา โดยต้องมีการยกเลิกตำแหน่ง “คนดีศรีสภาเป็นการถาวร” แม้ว่าในรอบหลายปีนี้ สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจะไม่ได้มอบตำแหน่งดังกล่าวให้กับใคร เนื่องจากยังมองไม่เห็นว่าใครมีความเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นร่วมกันว่า สมควรยกเลิกตำแหน่งนี้เป็นการถาวร จนกว่าในอนาคตจะมีสมาชิกรัฐสภาที่มีความประพฤติที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวต่อไป
นั่นเป็นมุมมองของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ที่ผ่านการระดมความเห็นของพวกเขาต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่อ้างว่าเป็น “ผู้ทรงเกียรติ” ตามระบอบประชาธิปไตย แต่หากพิจารณาจากผลที่ออกมา ก็ต้องถือว่า “ไม่คุ้มค่า” เพราะหากบอกว่าสมาชิกสภา ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่โดยยึดถือประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ถือว่าเป็นเรื่อง “อัปยศ” สิ้นดี ทุกอย่างมีแต่ “เกมการเมือง” เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมันก็ยิ่งน่ารังเกียจ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากมุมมองของสื่อมวลชนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากความเห็นของชาวบ้านทั่วไปมากนัก ที่ได้เห็นพฤติกรรมและคำพูดของ ส.ส.ทั้งในลักษณะของการให้สัมภาษณ์ และการอภิปรายในห้องประชุมสภา ซึ่งต้องบอกตามตรงว่า หลายคนมีพฤติกรรมไม่ต่างจาก “กุ๊ย” นั่นแหละ เพราะหากเปรียบเทียบกับในยุคที่ผ่านมา หลายสมัยก็ต้องถือว่าเป็นยุคที่ส.ส.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในทุกด้าน
นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงความเคลื่อนไหวในลักษณะ “เป็นกบฏเพื่อล้มนายกรัฐมนตรี” จากรายงานข่าวที่ว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ตอนนั้นเป็นทั้งรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนนำในการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับมีรายงานความเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการ “โหวตล้ม” จนนำมาซึ่งการปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในเวลาต่อมา
เอาเป็นว่า สภาชุดนี้ และ ส.ส.ในชุดปัจจุบัน มีครบเครื่องทุกอย่าง “ยกเว้นคุณภาพ” ทำให้ภาพลักษณ์ของสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมีภาพในทางลบมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่า ยังต้องส่งผลในความหมายของ “ประชาธิปไตย” ในภาพรวมอีกด้วย เพราะสภาย่อมเป็นตัวแทนของประชาชน ขณะเดียวกัน แม้ไม่อยากจะกล่าวถึงให้เป็นที่ระคายเคือง เนื่องจากคุณภาพของ ส.ส.ที่เป็นแบบนี้ ก็ย่อมมาจากการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งของชาวบ้านนั่นแหละ
ดังนั้น ก็ได้แต่ฝันลมๆ แล้งๆ ว่า ในปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงท้ายวาระของสภาชุดปัจจุบันแล้ว จะมีการปรับปรุงภาพลักษณ์และคุณภาพในทางบวก เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการแก้ไขพฤติกรรมที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเสียที !!
Source link
from World eNews Online https://ift.tt/3mzUKnK
via World enews
Labels: news, World eNews Online, worldnews
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home