นายกฯ ๒ รัฐธรรมนูญ
สรุป ๓ ความคิด “ลุงตู่ ๘ ปี” มีดังนี้
ความคิดแรก อยู่ได้แค่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕
เหตุผลคือ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีการยกเว้นการนำมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ มาบังคับใช้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้
ฉะนั้นระยะเวลา ๘ ปีตาม ม.๑๕๘ วรรคสี่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงเพียงไม่เกินวันที่ ๒๔ สิงหาคมที่จะถึงนี้
ความคิดที่สอง อยู่ได้จนถึงปี ๒๕๗๐
เหตุผลคือ เนื่องจากหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม ไม่บังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล ถ้าจะบังคับใช้ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน
ถ้ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประสงค์จะให้บังคับใช้ย้อนหลัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็จะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ๒ ครั้งตามที่กล่าวไว้
ครั้งที่ ๑ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗
และครั้งที่ ๒ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐
กรณีนี้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ม.๑๕๘ วรรคสี่ จึงเพิ่งจะบังคับใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๖๒
ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงจะดำรงตำแหน่งครบ ๘ ปีในปี ๒๕๗๐
และความคิดที่สาม อยู่ได้ถึงปี ๒๕๖๘
เหตุผลคือ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ประกาศบังคับใช้เมื่อ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาอยู่ในบังคับของ ม.๑๕๘ วรรคสี่ ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐
ดังนั้นการนับระยะเวลา ๘ ปี ต้องเริ่มนับแต่จุดนั้น ซึ่งจะไปครบในปี ๒๕๖๘ นั่นเอง
ครับ…หากรัฐธรรมนูญของไทยใช้มาฉบับเดียวต่อเนื่องยาวนาน กรณีนี้จะไม่เกิดขึ้น ต่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลังว่าห้ามนายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งเกิน ๘ ปีก็ตามที
เพราะจะไปย้อนหลังกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคาบเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้
รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายมหาชน (Public Law) บังคับใช้ย้อนหลังได้หรือไม่ นักกฎหมายต่างก็รู้กันดี
ที่ยกกรณีรัฐธรรมนูญฉบับเดียวมีการบังคับใช้ยาวนานแล้วมาแก้ไขทีหลัง ก็เพื่อเปรียบเทียบกับกรณีรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับที่บังคับใช้ต่อเนื่องกัน ซึ่งบัญญัติไม่เหมือนกันจะตีความกฎหมายอย่างไร
สมมุติว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีห้ามเกิน ๘ ปี มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ แน่นอนครับ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ ๒๔ สิงหาคม นี้
สมมุติต่อครับว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ แต่เพิ่งจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อปี ๒๕๖๐ ให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๘ ปี
พล.อ.ประยุทธ์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ จะพ้นตำแหน่งปีไหน?
ถ้าตีความย้อนหลังก็หมดวาระ ๒๔ สิงหาคมนี้เหมือนเดิม
แต่หากหลักกฎหมายระบุว่าห้ามตีความย้อนหลัง ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งปี ๒๕๖๐ ใช่หรือไม่
ครับ…ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียว ต่อให้มีการแก้ไขระหว่างทาง การตีความจะไม่ยาก
แต่พอเป็นรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับต่อเนื่องกัน ปัญหามันก็เกิด
มีทั้งปัญหาข้อกฎหมายว่าจะตีความแบบไหน และปัญหาความไม่ชอบในตัวรัฐธรรมนูญที่มองว่าเป็นเผด็จการ
เช่นที่ “ชูชาติ ศรีแสง” อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng
“…เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงแหน่ง นายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน
มาตรา ๑๕๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง
บทบัญญัติในมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ที่ว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้นั้น ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง ที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙
มาตรา ๑๕๙ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ และเป็นผู้มีชื่ออยู่ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรค การเมืองที่มีสมาชิก ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ คิดถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง ๓ ปี ๑ เดือน ๖ วันเท่านั้น
การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ มิได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง จึงนำเวลามารวมกันตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ไม่ได้
การอ่านและตีความกฎหมายในกรณีที่มีหลายวรรคนั้น ต้องพิจารณาประกอบกันทุกวรรค มิใช่นำมาพิจารณาใช้เพียงวรรคเดียวโดยมิได้นำวรรคอื่นมาพิจารณาประกอบด้วย…
ในแง่กฎหมายอาจตีความต่างกันได้ แต่ไม่ถูกใจก๊วนไล่ “ลุงตู่” แน่นอน
“ท่านชูชาติ” ไม่นำวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ มาเกี่ยวข้อง เพราะมิได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเอาไว้ อีกทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการเลือกตามมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
จึงต้องนับ ๑ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
ครบ ๘ ปีในปี ๒๕๗๐
แต่สุดท้ายแล้วจะตีความ ความต่อเนื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ กับรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ อย่างไร
อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญครับ.
Source link
from World eNews Online https://ift.tt/jfkTV0A
via World enews
Labels: news, World eNews Online, worldnews
0 Comments:
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home