Tuesday, April 11, 2023

‘เชียงใหม่’จี้เร่งแก้ฝุ่นพิษ ลุ้นศาลรับเป็นคดีฉุกเฉิน



เครือข่ายภาคประชาชนเชียงใหม่ยื่นศาลปกครองฟ้องนายกฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เหตุเพิกเฉยไม่ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือ ทอดทิ้งประชาชนเผชิญภยันตรายต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยต่อเนื่องยาวนาน ชี้จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รอลุ้นรับเป็นคดีฉุกเฉิน ขณะที่ อ.ปายอ่วมหนัก PM2.5 เกินมาตรฐานพุ่ง 249 ไมครอน

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยประชาชนผู้ร่วมฟ้อง เช่น สภาลมหายใจเชียงใหม่, สภาลมหายใจภาคเหนือ, นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ประจำคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นต้น นำเอกสารหลักฐานและรายชื่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นควันและมลพิษอากาศที่ร่วมกันลงชื่อระหว่างวันที่ 7-9 เม.ย.66 ที่คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จำนวน 727 คน และทางออนไลน์อีกกว่า 980 คน มายื่นต่อศาลปกครองเชียงใหม่

โดยฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่กำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากกรณีที่ตั้งแต่เดือน ม.ค.66 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ในภาคเหนือมีความเข้มข้นสูง ปกคลุมอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นวิกฤตระดับสูงสุด และมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย โดยมีฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปต่อเนื่องกันนับสัปดาห์เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน

การฟ้องร้องครั้งนี้มีข้อเรียกร้องสำคัญทางคดี 3 ประการ ได้แก่ 1.ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มข้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของสถานการณ์

2.ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปี ในการใช้แผนนี้แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถยอมรับได้         และ 3.ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขตให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านเพิ่มในแบบรายงาน 66-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญ สำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย

ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ร่วมฟ้อง กล่าวถึงเหตุผลในการฟ้องครั้งนี้ว่า แผนฝุ่นแห่งชาติที่มีมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเลย ส่วนมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ นั้น ให้อำนาจนายกฯ แก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ แต่นายกฯ กลับไม่ได้ใช้อำนาจนี้ ซึ่งปัญหาสำคัญคือกฎหมายและแผนที่มีอยู่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่ เราอยากเห็นการนำกฎหมายและแผนมาใช้ปฏิบัติการจริง ถ้ามันใช้ไม่ได้เราจะได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้จริงๆ โดยการฟ้องในครั้งนี้มีการขอให้ศาลปกครองรับเป็นคดีฉุกเฉินด้วย เพราะสถานการณ์ปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่มีความรุนแรงระดับวิกฤตที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและป้องกันในระยะยาวด้วย

ขณะที่นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ประจำคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ประชาชนในเมืองต้องเจอฝุ่นพิษ PM2.5 ระดับเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมะเร็งปอดชนิด EGFR mutation ที่มักพบในคนไม่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 7 เท่า รวมถึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 4-5 ปี เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากภาครัฐด้วยเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ ไม่เกรงใจกลุ่มทุน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและรักษาชีวิตคนได้นับล้าน 

ส่วนนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกคนต้องทนอยู่กับวิกฤตฝุ่นพิษที่เลวร้ายขึ้นทุกปีจนทนไม่ไหวแล้ว อยากเรียกร้องให้รัฐต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดมลพิษฝุ่นควันในป่าและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ว่า ต้องให้ความสำคัญและมีนโยบายเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษไม่ควรจะทำเป็นอีเวนต์หรือแบบชั่วครั้งชั่วคราวจบเป็นปีๆ ไป ซึ่งเป็นแบบนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

สำหรับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 กรมควบคุมมลพิษแจ้งในช่วงบ่ายวันเดียวกันว่า ภาคเหนือตอนบนพบค่าระหว่าง 38-249 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) เกินมาตรฐาน สูงสุดที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 249 ไมครอน รองลงมา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 163 ไมครอน ส่วนตัวเมืองเชียงใหม่ 108 ไมครอน

ส่วนสถานการณ์ไฟไหม้ป่าวันนี้ ศูนย์บัญชาการฯ เชียงใหม่ รายงานจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 10 เมษายน รอบเช้าพบจุดความร้อน จำนวน 60 จุด อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อ.สะเมิง 6 จุด, เชียงดาว 5 จุด, แม่แตง 4 จุด, กัลยาณิวัฒนา 3 จุด, อมก๋อย 3  จุด, ไชยปราการ 2 จุด, แม่ริม 1 จุด, ฮอด 1 จุด, แม่แจ่ม 1 จุด, แม่ออน 1 จุด ในเขตป่าอนุรักษ์ อ.เชียงดาว 10 จุด, พร้าว 6 จุด, แม่แจ่ม 3 จุด, เวียงแหง 2 จุด, ฮอด 2 จุด, สะเมิง 2 จุด, ฝาง 2 จุด, จอมทอง 2 จุด, ไชยปราการ 2 จุด, ดอยสะเก็ด 1 จุด, แม่วาง 1 จุด ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 ถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 9,680 จุด (ที่มาข้อมูล : GISTDA(https://fire.gistda.or.th/).

The post ‘เชียงใหม่’จี้เร่งแก้ฝุ่นพิษ ลุ้นศาลรับเป็นคดีฉุกเฉิน appeared first on .

ซื้อของออนไลน์ที่ shopee ช้อปสินค้าง่ายๆ ราคาถูก มีโปรโมชั่นมากมาย ☆ShopeeMall สินค้าของแท้ 100% คืนง่ายใน 15 วัน ส่งฟรีทั่วไทย.


Source link

from World eNews Online https://ift.tt/FndqVDf
via World enews

Labels: , ,

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home